พิษ GSP ฉุดหุ้นส่งออกร่วงยกแผง

28 ต.ค. 2562 | 04:50 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สหรัฐระงับ GSP ไทย กดดันหุ้นกลุ่มส่งออกลดลงถ้วนหน้า โบรกเผยกระทบบจ.น้อยมาก แต่ยังมีความเสี่ยง เชื่อรัฐยังจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม คาดกนง.ลดดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ แนะเลี่ยงกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า หลังจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ(USTR) จะระงับสิทธิภาษีศุลกากร (GSP) กับไทย 573 สินค้า มูลค่าสินค้าประมาณ  1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ราคาหุ้นในกลุ่มส่งออกเปิดการซื้อขายลดลงต่อเนื่อง โดย ณ เวลา 10.35 น. ราคาหุ้น บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TU) อยู่ที่ 13.50 บาท ลดลง 0.50 บาท หรือ 3.57%, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) อยู่ที่ 24.30 บาท ลดลง 0.70 บาท หรือ 2.80%, บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) (CFRESH) อยู่ที่ 1.86 บาท ลดลง 0.10 บาท หรือ 5.10%, บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) (GFPT) อยู่ที่ 13.70 บาท ลดลง 0.30 บาท หรือ 2.14%, บริษัท ห้องเย็นเอเชี่ยน ซีฟู้ด จำกัด (มหาชน) (ASIAN) อยู่ที่ 5.00 บาท ลดลง 0.40 บาท หรือ 7.41%, บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) (STA) อยู่ที่ 9.80 บาท ลดลง 0.40 บาท หรือ 3.92% และ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (KSL) อยู่ที่ 1.89 บาท ลดลง 0.02 บาท หรือ 1.05%

บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เผยการระงับสิทธิภาษีศุลกากร (GSP) กับไทย 573 สินค้า มูลค่าสินค้าประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลักๆ คือ  สินค้าอาหารทะเล, พาสต้า, ถั่ว น้ำผลไม้ อุปกรณ์เครื่องครัว ,เหล็กแผ่น ซึ่งการตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐจะมีผลใน  6 เดือนข้างหน้าคือ  25 เม.ย. 63  โดยสหรัฐอ้างเหตุผลในการตัดสิทธิมาจากการที่ประเทศไทยล้มเหลวในการจัดสิทธิที่เหมาะสมให้กับแรงงานสากล เป็นการตัดสิทธิตามหลังตุรกีที่สหรัฐตัดสิทธิ เมื่อ พ.ค.62 และ ตามมาด้วย สหรัฐตัดสิทธิกับอินเดีย  5 มิ.ย. 62  ซึ่งอ้างเหตุผลไม่เปิดตลาดให้สหรัฐ 

อย่างไรก็ตาม สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) ประเมินว่า กรณีการตัดสิทธิ GSP สหรัฐดังกล่าว  คาดต้นทุนภาษีนำเข้าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเฉลี่ยประมาณ 4.5%  และคาดจะทำให้สินค้ากลุ่มที่โดนตัดสิทธิมีมูลค่าส่งออกลดลงประมาณ 30 ล้านดอลลาร์เหรียญประมาณ 0.1% ของการส่งออกไปสหรัฐ หรือกระทบประมาณ  0.01% ของยอดส่งออกรวมทั้งหมดของไทยไปทั่วโลก

ทั้งนี้ ความเสี่ยงดังกล่าวประกอบกับทิศทางเงินบาทที่ยังแข็งค่าประมาณ 7% ล่าสุดอยู่ที่  31.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  เป็นการตอกย้ำว่าหุ้นกลุ่มสินค้าส่งออกต้องหลีกเลี่ยง และทำให้เชื่อมั่นว่ารัฐบาลยังจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มเติม ทั้งมาตรการคลัง รวมถึงจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินผ่านการลดดอกเบี้ย คาดหวัง กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.5% ในการประชุมที่เหลืออีก 2 ครั้ง คือ 6 พ.ย. และ 18 ธ.ค.  โดยให้น้ำหนักรอบ พ.ย.มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยฯลง

สำหรับหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐ  คือกลุ่มส่งออก ซึ่งกลุ่มเกษตรและอาหาร ฝ่ายวิจัยได้สอบถามข้อมูลไปยังบริษัทจดทะเบียนหุ้นที่เกี่ยวข้อง พบว่าไม่ได้รับผลกระทบจากการตัดสิทธิ GSP โดย TU ปัจจุบัน ไม่ได้สิทธิ GSP จากสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐฯ อยู่แล้ว เช่นเดียวกับ  เช่นเดียว CPF ที่ไม่ได้สิทธิ GSP จากการส่งออกกุ้งไปสหรัฐฯ

ขณะที่ STA ก็ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะยางพาราและถุงมือยาง ไม่เสียภาษีในการส่งออกไปสหรัฐ ส่วน KSL แม้ว่าสินค้าประเภทน้ำตาลและน้ำเชื่อมจะโดนตัดสิทธิ GSP แต่ปัจจุบัน KSL ส่งออกน้ำตาลไปสหรัฐฯ น้อยมาก เพียง 1 พันตันต่อปี คิดเป็นเพียง 0.1% ของรายได้รวม โดยลูกค้าหลักของ KSL คือประเทศในแถบเอเชีย อาทิ จีนและอินโดนีเซีย  
    
ขณะเดียวกัน โดยรวมยังคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่ม “เท่าตลาด”  แนะนำสะสม CPF และ TU สำหรับการลงทุนระยะกลางถึงยาว ที่ราคาหุ้นปรับฐานจนมีค่า PER ปี 63 เพียง 12 เท่า และยังสามารถคาดหวังเงินปันผลได้ประมาณ 3% ต่อปี ส่วนกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ GSP มีการถูกตัดสิทธิบางส่วน  ASPS  อยู่ระหว่างการสอบถามทางบริษัทจดทะเบียน โดยคำแนะนำของกลุ่ม คือ น้อยกว่าตลาดอยู่แล้ว แนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุน

บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ปีที่ผ่านมามี 5 ประเทศที่ส่งออกไปสหรัฐและได้รับประโยชน์จาก GSP มากที่สุดคือ อินเดีย ไทย บราซิล อินโดนีเซีย และตุรกี ซึ่งล่าสุดอินเดียก็ถูกตัดสิทธิ์ดังกล่าวบางส่วนแล้วเมื่อกลางปีที่ผ่านมา สำหรับครั้งนี้ของไทยคาดจะมีสินค้ากว่า 573 รายการ จากสินค้าที่ไทยใช้สิทธิ์ 1,485 รายการ รวมมูลค่า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ที่ถูกตัดสิทธิ์ไปในครั้งนี้ ( มีผล 1 เมษายน 2563 )   (มูลค่าส่งออกไปสหรัฐทั้งหมด 31,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ปีที่ผ่านมาประเทศไทยใช้สิทธิ์ดังกล่าวมูลค่า 4,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ) ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับครั้งก่อนที่ไทยถูกตัดสิทธิ์ 11 รายการมูลค่า 46 ล้านเหรียญสหรัฐ 

บล.กสิกรไทยมีมุมมองลบอ่อน ๆจากที่ถูกตัดสิทธิ์ GSP ในครั้งนี้ คาดส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยเล็กน้อย ( ต่ำกว่า 0.5 % ) และคาดผลกระทบจำกัดต่อดัชนีหุ้นไทย ทั้งนี้หากช่วงเวลาที่เหลือ 6 เดือน ก่อนมีผลบังคับใช้สามารถเร่งแก้ปัญหาด้านแรงงานตามที่สหรัฐ ฯ เรียกร้องได้อาจจะทำให้ภาพกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง 

ขณะที่ล่าสุดผู้บริหาร TU ออกมาปฏิเสธผลกระทบ โดยระบุว่าอาหารทะเลหรืออาหารสัตว์ที่จำหน่ายในสหรัฐไม่ได้อยู่ภายใต้ GSP