ชื่นมื่น...เซ็นแล้ว'ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน'

24 ต.ค. 2562 | 06:59 น.

นับ1 เซ็นสัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

 

ชื่นมื่น...เซ็นแล้ว'ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน'

 

     เมื่อเวลา 13.45 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมี นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สินรักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์

 

     พร้อมกันนี้ในพิธีดังกล่าวยังได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงสามสนามบิน โดยมี  นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สินรักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) ร่วมลงนาม

 

ชื่นมื่น...เซ็นแล้ว'ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน'

 

     นายวรวุฒิ เผยว่า การลงนามในสัญญาครั้งนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย นับเป็นครั้งแรกของรัฐบาลที่ได้ผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงในรูปแบบร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP Net Cost) มีมูลค่าสูงถึง 224,544 ล้านบาท ซึ่งไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากข้อตกลงสัญญาสัมปทานนี้ โดยมีกรอบวงเงินที่ ครม.อนุมัติ 119,425 ล้านบาท ปรากฎว่าเอกชนเสนอกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุน 117,226 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 2,200 ล้านบาท ภายใต้สัญญาร่วมลงทุน 50 ปี อีกทั้งทรัพย์สินทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา

 

ชื่นมื่น...เซ็นแล้ว'ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน'

 

     นายศุภชัย เผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่มีโอกาสร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยได้ร่วมกับพันธมิตรที่เป็นกิจการร่วมค้า ได้แก่ China Railway Construction Corporation Limited จากสาธารณรัฐประชาชนจีน บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ บมจ.ช.การช่าง จัดตั้ง “บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด หรือ Easten High-Speed Rail Linking Three Airport Co.,Ltd” ซึ่งภายหลังการลงนามจะเร่งเข้าไปบริหารจัดการบริษัทรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินฯ เพื่อจะได้ดำเนินการลงพื้นที่สำรวจ ออกแบบ เจรจากับผู้รับเหมาก่อสร้าง รวมทั้งเร่งจัดทำแผนก่อสร้างและเดินหน้าทันที

 

ชื่นมื่น...เซ็นแล้ว'ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน'

 

     โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มีแนวทางเชื่อมโยงท่าอากาศยานสำคัญของประเทศ โดยเริ่มต้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง วิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีมักกะสัน เลี้ยวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าต่อไปตามแนวทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านแม่น้ำบางประกง เข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และเข้าสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ระยะทางรวม 220 กม. โดยขบวนสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 250 กม./ชม

 

ชื่นมื่น...เซ็นแล้ว'ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน'

 

     โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน คาดว่าจะให้บริการได้ในปี 2566 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้เกิดการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานี นำความเจริญสู่ชุมชน เกิดการกระจายรายได้โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ คาดว่าจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท จะมีการจ้างงานในช่วงก่อสร้างมากถึง 16,000 อัตราและการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากกว่า 100,000 อัตราใน 5 ปีข้างหน้า ที่สำคัญคือโอกาสในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรไทยให้มีควาทเชี่ยวชาญเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้

 

ชื่นมื่น...เซ็นแล้ว'ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน'
ภาพ : Royal Thai Government

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

"กลุ่มซีพี"ลงขัน4พันล้านตั้งบริษัทเซ็นสัญญาไฮสปีด
NEWSROOM ห้องข่าวเศรษฐกิจ – ปิดฉากประวัติศาสตร์ประมูลรถไฟไฮสปีด 24/10/62
● เซ็นไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน บูมอีอีซี