ลุ้นระทึกโค้งสุดท้ายเบร็กซิท

19 ต.ค. 2562 | 04:45 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

อังกฤษได้บรรลุข้อตกลง “เบร็กซิท” กับ อียูแล้วเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 ซึ่งอาจปูทางให้อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ได้ในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ตามที่ได้มีกำหนดไว้ และจะเป็นการแยกตัวหลังจากที่อังกฤษได้รวมตัวเป็นตลาดเดียวกับอียูมานานถึง 46 ปี อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ว่าสภาผู้แทนราษฎร อังกฤษจะให้การรับรองข้อตกลงนี้ในการประชุมสภาวันเสาร์นี้ (19 ต.ค.) หรือไม่หลังจากที่พรรคการ เมืองในไอร์แลนด์ เหนือประกาศว่าอาจไม่สนับสนุนข้อตกลงดังกล่าว

ข้อตกลงในการถอนตัวของอังกฤษออกจากอียู หรือที่เรียกกันว่า ข้อตกลงเบร็กซิท สามารถเสร็จทันเวลาที่จะให้ผู้นำของชาติสมาชิกอียูประเมินเมื่อมีการประชุมสุดยอดกันในกรุงบรัสเซลส์ในเวลาต่อมา แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ขั้นตอนสุดท้ายเพราะนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะต้องนำข้อตกลงที่ได้นี้ไปให้สภาอังกฤษลงคะแนนรับรองในวันเสาร์นี้

นายจอห์นสันได้ทวีตข้อความว่า เขาได้ข้อตกลงใหม่ที่ดี ที่ได้นำอำนาจการควบคุมกลับมาสู่มือของอังกฤษอีกครั้ง ดังนั้นในขณะนี้รัฐสภาอังกฤษจึงควรจะทำให้อังกฤษออกจากอียูให้แล้วเสร็จในวันเสาร์เพื่อที่จะได้เปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นๆ ได้แล้ว เช่น เรื่องค่าครองชีพ ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่มีความรุนแรง และสิ่งแวดล้อม

ขอแค่การรับรองจากสภา

รายงานระบุว่า อุปสรรคที่จะทำให้นายจอห์นสันนำอังกฤษออกจากอียูได้สำเร็จหรือไม่นั้น ตัวแปรสำคัญในขณะนี้อยู่ที่พรรคเดโมเครติก ยูเนียนนิสต์ (ดียูพี) ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองในไอร์แลนด์เหนือที่เป็นพันธมิตรกับพรรคอนุรักษ์นิยมของเขา จอห์นสันจะต้องทำให้พรรคดียูพีเห็นชอบกับข้อตกลงที่ได้มานี้ เนื่องจากเขาเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาและได้พ่ายแพ้คะแนนโหวตในการลงมติสำคัญๆ มาหลายครั้งติดๆ กัน นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอังกฤษในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 

ในกรณีที่สภาอังกฤษ  “ไม่เห็นชอบ” กับข้อตกลงที่ได้ (ซึ่งในขณะที่ปิดต้นฉบับอยู่นี้เป็นวันที่ 18 ต.ค.) นายจอห์นสันจะต้องกลับไปเจรจากับอียู ขอยืดเวลาในการออกจากอียูของอังกฤษไปอีก 3 เดือนหลังวันที่ 31 ตุลาคม หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือสภาจะต้องมีมติเห็นชอบให้ประเทศออกจากอียูโดยไร้ข้อตกลง แต่ตัวเขาเองนั้นได้ยืนยันมาโดยตลอดว่า อังกฤษจะต้องออกจากอียูตามกำหนดในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ให้ได้ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีข้อตกลงก็ตาม

ลุ้นระทึกโค้งสุดท้ายเบร็กซิท

แก้ปัญหา hard border

สำหรับประเด็นหลักๆ ที่อาจจะเป็นอุปสรรคทำให้สภาอังกฤษไม่สนับสนุนข้อตกลงเบร็กซิทที่นายจอห์นไปตกลงมากับอียูล่าสุดนี้ก็คือท่าทีของพรรคดียูพี ซึ่งตัวผู้นำพรรคได้ประกาศชัดว่า ไม่อาจสนับสนุนข้อตกลงของอังกฤษกับอียูได้ เนื่องจากไม่พอใจในประเด็นที่เกี่ยวกับศุลกากร ซึ่งตามข้อตกลงใหม่ของนายจอห์นสันนั้น ไอร์แลนด์เหนือจะได้รับการปฏิบัติด้านศุลกากรที่แตกต่างไปจากส่วนอื่นๆ ของอังกฤษ และสิ่งนี้ก็เป็นข้อกังวลใจของพรรคดียูพี  

อย่างไรก็ดี เป็นที่ชัดเจนแล้วว่านับจากนี้จะไม่มีการกำหนดพรมแดนแบบเข้มงวด หรือ hard border ที่มีการตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองและด่านศุลกากรที่พรมแดนไอร์แลนด์เหนือของอังกฤษกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ที่เป็นประเทศสมาชิกอียู 

ฝ่ายคัดค้านยังระบุว่า ข้อตกลงเบร็กซิทของนายจอห์นสันไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อีกด้วย แม้นายจอห์นสันจะมีการหารือใกล้ชิดกับพรรคดียูพี และมีความพยายามแก้ไขปัญหาที่ทางพรรคข้องใจในบางเรื่องแล้ว แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่า นางอาร์ลีน ฟอสเตอร์ ผู้นำพรรคดียูพี จะหันกลับมาให้ความสนับสนุนข้อตกลงของนายจอห์นสันมากน้อยเพียงใด

 

ถ้าต้องออกแบบไร้ข้อตกลง

ความขัดแย้งที่ยังคงมีอยู่ระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับสมาชิกรัฐสภา รวมทั้งการประกาศท่าทีของพรรคดียูพีที่ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงเบร็กซิท ทำให้ค่าเงินปอนด์อ่อนตัวลงถึง 0.6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอยู่ที่ 1.2748 ดอลลาร์ต่อปอนด์ และอ่อนตัวลง 0.5% เมื่อเทียบกับเงินยูโรโดยอยู่ที่ 86.81 เพนซ์ ก่อนที่จะคงที่และฟื้นตัวขึ้นมาได้เล็กน้อย ทั้งนี้เงินปอนด์ได้แข็งค่าขึ้น 5% นับตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อการเจรจาระหว่างอังกฤษและอียูเริ่มมีความคืบหน้า โดยได้แตะระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือนแต่มีการซื้อขายอย่างผันผวน

ในกรณีที่อังกฤษสามารถแยกตัวจากอียูได้ตามกำหนดนั้น อังกฤษยังจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของอียูต่อไปในช่วงเปลี่ยนผ่าน คือจนถึงสิ้นปี 2020 (พ.ศ. 2563) เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถปรับตัวได้ทัน และจะมีการรับประกันสิทธิพลเมืองอียูที่พำนักในอังกฤษ รวมถึงพลเมืองอังกฤษที่พำนักอยู่ใน
อียูด้วย แต่หากอังกฤษต้องแยกตัวจากอียูโดยไร้ข้อตกลง นักวิเคราะห์คาดว่า กรณีเช่นนั้นจะผลักดันให้เศรษฐกิจอังกฤษเข้าสู่ภาวะถดถอย ราคาสินทรัพย์และค่าเงินปอนด์จะตกลงอยางรุนแรง เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น และสำหรับสมมติฐานที่เลวร้ายที่สุดคือ รายได้ที่แท้จริงจะลดตํ่าลง ส่งผลกระทบต่อรายรับจากภาษี ทำให้ต้องมีการกู้ยืมของภาครัฐเพิ่ม ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้นอีก 12% ในปี 2024 (พ.ศ. 2567) 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3515 ระหว่างวันที่ 20-23 ตุลาคม 2562