13 ไอพีโอ ตํ่าจอง โบรกชี้เติบโตไม่ชัด

17 ต.ค. 2562 | 03:50 น.

ส่อง 17 หุ้นไอพีโอที่ระดมทุนปีนี้ มีเพียง 4 แห่งยืนเหนือราคาจอง DOHOME เพิ่มสูงสุด 39.7% โบรกฯชี้บจ.ที่จดทะเบียนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นภาพเติบโตชัด มุ่งระดมทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงและคืนเงินกู้มากกว่า คาดต้นแบบดีล AWC กลไกการจัดสรรประเภทผู้ลงทุน ช่วยเซฟรายย่อยปลอดภัยจากการลงทุนหุ้นขนาดใหญ่โค้งท้าย

รายงานจากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีบริษัท/หลักทรัพย์จดทะเบียนใหม่ในปีนี้ (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 ตุลาคม 2562) ทั้งสิ้น 17 บริษัท (ไม่รวมการระดมทุนกรณีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 52,477 ล้านบาทและมีมูลค่า IFF, PFUND, REITs) เป็นมูลค่าระดมทุนรวม ราคาหลักทรัพย์(Market Cap) ราคาไอพีโอรวมกัน 230,219 ล้านบาท (ตารางประกอบ) จำนวนนี้เป็นการระดมทุนในตลาดหลัก ทรัพย์ (SET) 7 บริษัท มูลค่ารวม 49,335 ล้านบาท มูลค่ามาร์เก็ตแคปรวม 218,427 ล้านบาท และที่เหลือเป็นการระดมทุนผ่านตลาดหลัก ทรัพย์ MAI

อย่างไรก็ดี บจ.ที่เสนอขายไอพีโอ มีเพียง 4 หลักทรัพย์จากจำนวนทั้งหมด 17 หลักทรัพย์ ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นเหนือราคาจองคือ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) (บมจ.) (AWC) ราคาไอพีโอ 6.00 บาท ราคาปิดการซื้อขายวันแรก (10 ตุลาคม) อยู่ที่ 6.05 บาท เพิ่มขึ้น 0.83% และราคาปิดล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ยืนที่ 6.20 บาท หรือเพิ่มขึ้น 3.3% จากราคาจอง, บมจ. ดูโฮม (DOHOME) ราคาไอพีโอ 7.80 บาท ปิดซื้อขายวันแรกยืนที่ 8.70 บาท เพิ่มขึ้น 11.50% และราคาปิดล่าสุดวันที่ 11 ตุลาคม ปิดที่ 10.90 บาท เพิ่มขึ้น 39.7%

 

13 ไอพีโอ ตํ่าจอง โบรกชี้เติบโตไม่ชัด

บมจ. เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป (ZEN) ราคาไอพีโอ 13.0 บาท ราคาปิดซื้อขายวันแรกยืนที่ 15.20 บาท เพิ่มขึ้น 16.9% และปิดล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม อยู่ที่ 14.90 บาท เพิ่มขึ้น 14.60% ส่วนบมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ (SEG) ราคาปิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม อยู่ระดับ 46.0 บาท เพิ่มขึ้นจากราคาปิดซื้อขายวันแรก (31 กรกฎาคม 2562) อยู่ที่ 36.50 บาท หรือปรับเพิ่ม 9.50 บาท เพิ่มขึ้น 26.0%

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวกับฐานเศรษฐกิจว่า เหตุที่หุ้นไอพีโอส่วนใหญ่จะต่ำกว่าราคาจอง เพราะบริษัทที่เข้ามาจดทะเบียนในระยะที่ผ่านมา ยังไม่มีภาพการเติบโตที่ชัดเจน เข้ามาระดมทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงของผู้ถือหุ้นใหญ่ ต้องการแหล่งเงินทุนระยะยาวที่ปราศจากดอกเบี้ย เพื่อใช้ชำระคืนเงินกู้มากกว่า หรือธนาคารอาจมองว่าสถานะการเงินตึงตัวมากไป จึงต้องการให้เพิ่มส่วนของทุนมากขึ้น ทำให้ต้องจดทะเบียนระดมทุนในตลาด

นอกจากนี้หากเป็นธุรกิจที่เน้นการผลิตหรือซื้อมาขายไป ตลาดก็อาจให้มูลค่าไม่มากแต่หากเป็นธุรกิจที่โครงสร้างมีการเติบโตขยายสาขาจะเป็นที่คาดหวังของตลาดได้มากกว่า จะสังเกตเห็นว่าหุ้นไอพีโอที่ราคาไปได้ดีมักจะเป็นขนาดกลาง อยู่ในอุตสาห กรรมที่มีสาขามากระดับหนึ่งและมีศักยภาพที่จะขยายต่อได้อีกมาก เช่น ในกลุ่มธุรกิจอาหาร ก่อสร้าง เป็นต้น

ตลาดค่อนข้างให้น้ำหนักการเติบโตในเชิงโครงสร้างระยะยาว แต่หุ้นหลายๆ ตัวยังไม่สามารถนำเสนอการเติบโตที่มีความโดดเด่นในระยะยาว ทำให้ราคาไม่สามารถไปต่อหรือมีความโดดเด่นให้เห็น

ส่วนในช่วงโค้งท้ายไตรมาส 4/2562 มีบริษัทที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอเข้าจดทะเบียนรวมถึง 22 บจ. จำนวนนี้เป็นการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ SET ถึง 13 บริษัท นายกิจพณ กล่าวต่อว่าสำหรับการลงทุนในหุ้นไอพีโอ ต้องดูเป็นรายธุรกิจว่าที่เข้ามาจดทะเบียนมีความน่าสนใจหรือไม่และดูวัตถุประสงค์การเข้าจดทะเบียน ว่าเพื่อขยายงาน หรือต้องการจัดโครงสร้างธุรกิจกระจายความเสี่ยง

“ตัวอย่างของ AWC ทำให้เชื่อว่าดีลใหญ่หลายดีลที่กำลังจะออกมา น่าจะมีความปลอดภัยสำหรับผู้ที่จองซื้อ ในแง่ที่ราคาไม่หลุดจอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารสัดส่วนของนักลงทุนประเภทต่างๆ เช่น AWC ที่มีการกระจายหุ้นให้กับนักลงทุนสถาบันมากกว่ารายย่อย จากเดิม 75 : 25 เปลี่ยนเป็น 85 : 15 หุ้นส่วนใหญ่จึงอยู่ในมือนักลงทุนสถาบัน ทำให้แรงเทขายไม่หนาแน่น อีกทั้งกลไกในเรื่องสิทธิการซื้อหุ้นคืนจากกรีนชู (ส่วนที่จัดสรรเกิน 1,043 ล้านหุ้น) ทำให้สามารถประคองให้ราคาหุ้นเหนือราคาจอง ส่วนจะเห็นราคาหุ้นปรับขึ้นโดดเด่นต้องผ่านไประยะหนึ่ง เมื่อเห็นภาพการเติบโตต่อเนื่องได้ชัดเจน

 

ทั้งนี้โบรกเกอร์ ตั้งราคาพื้นฐานหุ้น AWC ที่ 6.19 - 6.47 บาท เทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (15 ตุลาคม 2561) อยู่ที่ 191,933.40 ล้านบาท และจำนวนหุ้นทั้งหมดที่มี 30,957 ล้านหุ้น

แหล่งข่าวจากที่ปรึกษาการเงิน กล่าวว่าคาดตลาดหุ้นไอพีโอจะกลับมีความคึกคักช่วงโค้งท้ายปี จากการเข้ามาระดมทุนของกลุ่มบจ.ขนาดใหญ่หลายบริษัท เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีการเตรียมการมานาน ประกอบเป็นบริษัทที่มีการเติบโตแข็งแกร่ง มีการขยายกิจการ เช่น การไปซื้อกิจการต่างประเทศ การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงเป็นการสร้างโอกาสในการระดมทุน

ประเด็นขณะนี้อยู่ที่สภาพคล่องในตลาด ขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้ ผลตอบแทน (yield) เริ่มตํ่าลง หรือการลงทุนในหุ้นกลุ่มกองทุนอสังหาฯ (IFF, PFUND, REIT) ราคาได้ปรับขึ้นไปสูงมากแล้ว นักลงทุนจึงเริ่มกลับมาให้ความสนใจในการลงทุนในหุ้นกู้ และหุ้นไอพีโอ แต่ทั้งนี้การจะลงทุนในหุ้นไอพีโอ ต้องเลือกดู พิจารณาเป็นตัวๆ ไป

 

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,514 วันที่ 17-19 ตุลาคม 2562

13 ไอพีโอ ตํ่าจอง โบรกชี้เติบโตไม่ชัด