บอร์ด '8เทพอสูรมังกร' รถไฟ ตั้งปุ๊บ ลงนามรถไฟฟ้าปั๊บ

15 ต.ค. 2562 | 11:26 น.

คอลัมน์ข่าวห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3514 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 17-19 ต.ค.2562 โดย...พรานบุญ

 

บอร์ด '8เทพอสูรมังกร' รถไฟ

ตั้งปุ๊บ!

ลงนามรถไฟฟ้าปั๊บ

 

          “มาตามสัญญา มาตามหัวใจเรียก หา

          เมื่อลมหนาวหวน มา จงตื่นจากหลับ ใหล....

          ซึมเซาอยู่นาน วัน สิ้นกำลังทั้งกาย ใจ

          ถึงรอนานเพียง ใด หัวใจก็ อดทน...

          จู่ จู่ ก็หาย ไป กำลังใจที่เคย มี

          อยู่ๆ ก็หวน มา ตามคำสัญญากับ ตัวเอง...

          ขอเพียงสิ่งดลใจบาง อย่าง กระตุ้นเตือนข้าง ใน

          ถึงเป็นแค่เพียงลมหนาวพัด ผ่าน วูบเดียวก็พอ ก็พอ..”

          ในที่สุดคณะรัฐมนตรี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก็ทำคลอดคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แทนที่ชุดเดิม ที่ “กุลิศ สมบัติศิริ” ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน และไม่ยอม “หงอ” เพื่อลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 2.27 แสนล้านบาท ที่กลุ่มซีพีชนะการประมูลไป เนื่องจากเสนอเงื่อนไขให้รัฐบาลไทยจ่ายเงินในการลงทุนน้อยที่สุด แต่มีการเจรจาปรับเงื่อนไขในสัญญาจาก “ทีโออาร์เดิม” ยาวนานและแก้ไขในรายละเอียดมากที่สุดในประวัติศาสตร์การประมูลไทย

          พรานฯ ที่ท่องไพรมาชั่วชีวิตพาท่านไปรู้จัก....8 เทพ อสูร มังกรฟ้าที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทย ชุดใหม่ที่คณะรัฐมนตรีลุงตู่อนุมัติกัลลลล...

          จิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธานกรรมการ รฟท.

          จิรุตม์นั้นเป็นลูกหม้อกรมการขนส่งทางบก จบรัฐศาสตรบัณฑิต จากจุฬาฯ ไปเรียนต่อทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ซานดิเอโก สหรัฐฯ ก้าวขึ้นมาเป็นรองอธิบดี ก่อนถูกโยกออกไปเป็นผู้ตรวจราชการเมื่อ 30 สิงหาคม 2559 พอถึง 20 กันยายน 2560 ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมเจ้าท่า ดำรงตำแหน่งปีเดียว ไม่รู้ไปแก้ปัญหาไอยูยูหนักไปหน่อยหรืออย่างไร จึงโดนแขวนในเดือนตุลาคม 2561 ให้ไปเป็นผู้ตรวจราชการ อีกครั้ง ก่อนจะแต่งตั้งเป็นรองปลัดกระทรวงคมนาคม ในเดือนมกราคม 2562 ก่อนที่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม จะใช้งานในการขับเคลื่อนนโยบายด้านแท็กซี่ และรถสาธารณะ จนถูกอกถูกใจ และตั้งเป็นอธิบดีกรมการขนส่งทางบก โดยย้ายสลับขั้วกันกับ อธิบดีคนเก่า “พีระพล ถาวรสุภเจริญ”

          ชยธรรม์ พรหมศร รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นกรรมการผู้แทนกระทรวงคมนาคม ชยธรรม์นั้นถือเป็นลูกหม้อ สนข.และครม.ลุงตู่มีมติแต่งตั้งไปเป็นผู้อำนวยการ สนข.เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา รอโปรดเกล้าฯ

          การทำงานที่ผ่านมาของ ชยธรรม์ต้องบอกว่าเดี่ยวมือ 1 ในเรื่อง “ถนน-หนทาง” ปี 2559-2562 เป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ปี 2554-2559 เป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการทางหลวงระหว่างประเทศ กรมทางหลวง ปี 2552-2554 ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการก่อสร้างและประเมินผล กรมทางหลวง ปี 2551-2552 เป็น วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ (ระดับ 9) กรมทางหลวง ปี 2547-2551 เป็นผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กรมทางหลวง

          ศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์ รองอธิบดีด้านที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ เป็นกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลัง สำหรับศุกร์ศิรินั้นเป็นรองอธิบดีหมาดๆ เคยเป็นธนารักษ์พื้นที่สุพรรณบุรี ถือว่ามาแบบตรงคน ตรงงาน เพราะดูแลงานในส่วนของเทคโนโลยีการสำรวจ และฐานข้อมูลที่ราชพัสดุ งานในกองบริหารจัดการกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุ กองบริหารที่ราชพัสดุภูมิภาค

          อำนวย ปรีมนวงศ์ อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นกรรมการ รฟท.

          อำนวยเคยเป็นกรรมการ รฟท.มาระลอกหนึ่งในสมัยรัฐบาล ลุงตู่ 1 เคยเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายได้) ปี 2554-2557 เป็นหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ปี 2552-2554 :ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ปี 2551 เป็นที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์ ปี 2549-2551 เป็นรองอธิบดีกรมธนารักษ์ ปี 2547 เป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารที่ราชพัสดุกรุงเทพมหานคร กรมธนารักษ์ ปี 2546 เป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารที่ราชพัสดุ 1 กรมธนารักษ์

          เรียกง่ายๆ ว่าถ้าจะถามว่าที่ตรงไหนเป็นที่ราชพัสดุ เรียก “น้านวย...พูดได้ ตอบได้ ตรงประเด็น ยังกะเห็นลายนิ้วมือตัวเอง”

          ไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท เอกชัย ดิสทริบิวชั่นซิสเทม จำกัด อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินกลุ่มบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตทฯ เป็นกรรมการ รฟท.

          ไตรทิพย์นั้นถือว่าเป็นมือการเงิน เคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินส่วนกลาง บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลฯ (MINT) เคยเป็นมือการเงินที่เชี่ยวชาญและเก่งในการเข้าไปช่วยเหลือและปรับโครงสร้างทางธุรกิจให้กับบริษัทที่มีปัญหาช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจยุคปี 2540 ให้สามารถพลิกฟื้นกลับมา ไม่ว่า บริษัท ทีพีไอ ปิโตรเคมีกัลฯ หรือบริษัท ไออาร์พีซีฯ (IRPC) รวมถึงการปรับหนี้ในธุรกิจนํ้าตาลที่โด่งดัง เคยเป็น 1 ในผู้อำนวยการบริหารสินทรัพย์ไทย ที่เป็นผู้ขายทรัพย์ปรับโครงสร้างหนี้ประเทศไทย เห็นหน้าหวาน แต่ใจเธอแข็งดุจเพชร เคยเขียนหนังสือเล่มหนาเตอะชื่อ “กลโกงสะท้านโลก” ให้คนไทยได้อ่านกัน

          ธันวา เลาหศิริวงศ์  ประธานกรรมการตรวจสอบ/กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ TPBI เป็นกรรมการ ธันวานั้นเคยเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ปี 2558 ธันวาเป็น รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ก่อนลาออกเพราะมีปัญหาบางประการกับ “นายพล” ที่เป็นประธานทีโอที

          ชีวิตธันวานั้นน่าสนใจมากๆ เคยเป็นนายกสมาคมการลงทุนเน้นคุณค่าแห่งประเทศไทย เป็นนักลงทุน “วีไอ” ตัวพ่อ

          “ธันวา” จบภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ปี 2530 ได้รับการยกย่องให้เป็นศิษย์เก่าวิศวะลาดกระบัง “ดีเด่น” เข้าทำงานในตำแหน่งวิศวกรระบบที่ บริษัท โตโย เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ทำงาน 3 ปีลาออก เป็นเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทยฯ ไต่เต้าจากตำแหน่งเล็กๆ จนได้เป็นผู้บริหาร ก่อนจะถูกส่งตัวไปทำงานที่สิงคโปร์ เป็นเวลา 4 ปี จากนั้นได้รับโปรโมตให้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ต่อจาก ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ที่มาทำงานในไทยคม แต่ทำงานพักหนึ่งก็ลาออกมาเป็นายกสมาคมวีไอ แทนที่ สุทัศน์ ขันเจริญสุข เจ้าของพอร์ตหุ้น “พันล้านบาท”

          พินิจ พัวพันธ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด เป็นกรรมการ พินิจนั้นไม่เบาจบปริญญาโท เศรษฐศาสตร์, The London School of Economics and Political Science จบปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์, Tufts University เป็นกรรมการ บริษัท มะลิกรุ๊ป 2012 จำกัด เป็นรองประธานกรรมการบริษัท นมตรามะลิฯ และเป็นกรรมการในบริษัท การบินไทยฯ มาตั้งแต่ปี 2561

          วรวุฒิ มาลา รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฯ เป็นกรรมการ รฟท.

          วรวุฒินั้นถือว่าเป็นผู้รับไม้ในการเจรจาเรื่องรถไฟ 3 สนามบินมากับมือตั้งแต่ต้น รู้ดุจลายมือตัวเองเช่นกัน

          8 อรหันต์ที่เป็นกรรมการ รฟท.คือบอร์ดฮิตาชิ ตั้งปุ๊บตามแผน ของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม บอกว่าจะต้องลงนามสัญญากับกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (CPH) ในวันที่ 25 ตุลาคม 2562

          ลงนามกันอย่างไร รายละเอียดเป็นอย่างไร บอร์ดรถไฟคือหนังหน้าไฟในสัญญาไฮสปีดเทรน 2.2 แสนล้านบาท ที่มีเงื่อนไขยุบยิบ ถ้าส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ใน 1 ปี 3 เดือน ก็กลายเป็นค่าโง่ที่รัฐต้องเข้าไปแบกรับภาระให้เอกชนคู่สัญญา “เงินชดเชยพิเศษหากมีข้อปัญหาในสัญญา” จิปาถะบันเทิง รอให้ 8 เทพอสูรมังกรฟ้า พิสูจน์