ส่อง 6 กฎเหล็ก ‘สิงคโปร์’ ต้นแบบคุมเข้มรัฐมนตรี

17 ต.ค. 2562 | 04:50 น.

 

เมื่อเร็วๆ นี้เว็บไซต์รัฐสภาไทยได้เผยแพร่งานแปลบทความ ด้านนิติบัญญัติ เรื่อง ประมวลจริยธรรมรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งเป็นกฎข้อบังคับที่ใช้กับรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทุกคนให้ต้องยึดถือปฏิบัติ การละเมิดข้อหนึ่งข้อใดอาจจะส่งผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่งได้โดยมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2497 และได้รับการแก้ไขมาเป็นระยะให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน รวม 6 ประการ ดังนี้

1. การเปิดเผยผลประโยชน์ส่วนบุคคล ให้รัฐมนตรีต้องเปิดเผยทรัพย์สิน ซึ่งประกอบด้วย แหล่งที่มาของรายได้ ที่นอกเหนือจากเงินเดือนในฐานะรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐสภา, ทรัพย์สิน ทั้งทรัพย์สินทางการเงินอสังหาริมทรัพย์ ผลประโยชน์จากบริษัทต่างๆ หรือจากการประกอบวิชาชีพใดๆ และทรัพย์สินส่วนบุคคลอื่นใด รวมถึงหนี้สินทางการเงินต่างๆ ทั้งการจำนองและการกู้ยืม ทันทีที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งโดยเปิดเผยต่อประธานาธิบดีผ่านนายกรัฐมนตรีเป็นการลับเฉพาะ

2. การดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท การเป็นหุ้นส่วน และการได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งต่างๆ สำหรับรัฐมนตรีที่เป็นหุ้นส่วนในบริษัทที่ประกอบวิชาชีพ หรือในภาคธุรกิจอื่นใดทันทีที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจะต้องยุติการดำเนินการที่ได้รับค่าตอบแทนหรือบทบาทนั้นไม่ว่าในส่วนใดๆ ในการดำเนินงานของบริษัทในทันที

อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีอาจจะดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัท และเข้าร่วม หรือมีความเกี่ยวข้องในการดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้โดยได้รับอนุญาตจากนายกฯ หากเห็นว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศที่รัฐมนตรีควรดำเนินการโดยการประกาศในหนังสือรวบรวมคำประกาศของราชการ และอาจรับตำแหน่งกรรมการ หรือตำแหน่งอื่นๆ เพื่อเป็นเกียรติหรือเพื่อการอื่นใด

อาทิ การดำเนินงานเพื่อการกุศล หรือ เป็นบริษัทเอกชนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อถือครองทรัพย์สินในครอบครัวส่วนบุคคล หรือเป็นไปเพื่อจัดการทางด้านภาษีส่วนบุคคล หรือการวางแผนจัดการมรดก

 

ส่อง 6 กฎเหล็ก ‘สิงคโปร์’  ต้นแบบคุมเข้มรัฐมนตรี

 

3. รัฐมนตรีต้องหลีกเลี่ยงการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ในตำแหน่งและผลประโยชน์ทางการเงินส่วนตัว ยกตัวอย่างเช่น การใช้อำนาจ หรือ อิทธิพลในทางที่จะเป็นประโยชน์ หรือ อาจถูกมองว่า เอื้อต่อผลประโยชน์ส่วนบุคคล การใช้ความรู้เฉพาะในฐานะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์หรือเป็นไปเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสีย (หรือมีเหตุอันควรสงสัย) ว่า มีความเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเงินส่วนบุคคล

รัฐมนตรีต้องไม่ไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกรรมต่างๆ ซึ่งมีผลประโยชน์ทางการเงินส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่อาจจะทำให้เชื่อได้ว่า เข้าไปมีส่วนขัดกันกับหน้าที่ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ต้องไม่ใช้อิทธิพลในหน้าที่เพื่อให้การสนับสนุนแก่สถานประกอบการ โครงการ หรือแผนงานใดๆ ที่มีผลประโยชน์ต่อรัฐมนตรีนอกเหนือจากการได้รับผลประโยชน์ที่อนุญาตให้ดำเนินการได้


 

 

รวมถึงต้องไม่รับความช่วยเหลือจากบุคคลใดก็ตามซึ่งอยู่ในระหว่างการเจรจาหรือต้อง การใบอนุญาตต่างๆ หรือการทำสัญญากับรัฐบาล รวมถึงต้องไม่ใช้ข้อมูลของทางการที่ได้รับทราบในฐานะรัฐมนตรีไม่ว่าลักษณะใดๆ ก็ตามเพื่อแสวงหาผลกำไรส่วนตน หรือผลกำไรให้แก่สมาชิกในครอบครัวหรือพรรคพวก

และพึงหลีกเลี่ยงการลง ทุนเพื่อเก็งกำไรโดยอาศัยอำนาจของตำแหน่งที่ดำรงอยู่และวิธีการพิเศษเพื่อให้ได้ข้อมูลก่อนผู้อื่นหรือข้อมูลที่เป็นความลับ ที่อาจสร้างความได้เปรียบที่เหนือกว่านักลงทุนรายอื่นกรณีที่เกิดข้อเคลือบแคลงสงสัย รัฐมนตรีควรสละหรือขจัดผลประโยชน์ทางการเงินดังกล่าว เพื่อที่จะไม่ไปเพิ่มหรือทำให้เกิดความรู้สึกว่า มีความขัดกันของผลประโยชน์

4. รัฐมนตรีต้องไม่ใช้อิทธิพลของตนเพื่อสนับสนุนบุคคลใดเพื่อเข้าทำงาน หรือได้รับการเลื่อนขั้นในสำนักงานข้าราชการพลเรือนของสิงคโปร์ ทั้งนี้ อาจเขียนใบรับรองให้แก่บุคคลที่รู้จักเป็นการส่วนตัวได้ เพื่อการบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสำนักงานข้าราชการพลเรือนของสิงคโปร์

กรณีที่มีความคุ้นเคยกับงานของข้าราชการพลเรือนและคณะกรรมการหรือหน่วยงานบริการสาธารณะที่ต้องการความคิดเห็นของรัฐมนตรี ในการประเมินผลการดำเนินงานของข้าราชการพลเรือนรัฐมนตรีอาจให้ความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวได้ ต้องไม่ชี้นำหรือเรียกร้องให้ข้าราชการพลเรือนกระทำการ หรือปฏิบัติหน้าที่ที่ขัดต่อค่านิยมของข้าราชการพลเรือนที่ว่าด้วยการไม่ทุจริต มีความเป็น กลาง มีศีลธรรม และซื่อสัตย์ เคารพต่อหน้าที่ของข้าราชการพลเรือนที่ต้องคงความเป็นกลางทั้งทางการเมืองและต่อประเด็นข้อโต้แย้งของสาธารณะ

5. ต้องไม่ไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสื่อสารมวลชนประเภทต่างๆ ที่ขัดต่อหน้าที่รับผิดชอบในฐานะสมาชิกของรัฐบาล หรือขัดต่อหลักการรับผิดชอบร่วมกันของรัฐมนตรี

6. ต้องปฏิเสธการให้ของขวัญในรูปแบบต่างๆ รวมถึงผลประโยชน์ที่ไม่สามารถคิดเป็นเงินได้ การรับรอง บัตรกำนัล การให้สัมปทาน หรือการให้บริการอื่นใดโดยไม่คิดมูลค่า หรือคิดในราคาที่ตํ่ากว่ามูลค่าปกติทั่วไป

รวมถึงต้องสร้างความมั่นใจว่า คู่สมรส บุตรและผู้ที่อยู่ในความอุปการะดูแลจะต้องไม่รับของขวัญจากบุคคลใด หรือในสถานการณ์ใดก็ตามที่จะก่อให้เกิด หรืออาจปรากฏได้ในภายหลังว่า ส่งผลทำให้รมต.ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จะขัดต่อตำแหน่งหน้าที่รัฐมนตรีได้

ประมวลจริยธรรมของสิงคโปร์ถือเป็นมาตรฐานสูงสุดที่แสดงถึงความซื่อตรง ความรับผิดชอบ การมีคุณธรรม ซื่อสัตย์และอุตสาหะในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อสาธารณะ ที่รัฐมนตรีสิงคโปร์ทุกคนยึดถือเป็นหลักปฏิบัติและคงรักษาระดับความเข้มข้นของมาตรฐานทางจริยธรรมเอาไว้ตลอด 65 ปีที่ผ่านมาได้อย่างน่าชื่นชม

 

อยากได้ของขวัญ

ต้องขอซื้อต่อจากรัฐบาล

ตอนหนึ่งในเอกสารประมวลจริยธรรมฯ ฉบับนี้ ได้อธิบายถึงการแลกเปลี่ยนของขวัญซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มักจะเกิดขึ้นระหว่างการเยือนอย่างเป็นทางการ หรือของขวัญที่ได้รับมอบจากรัฐบาลต่างประเทศว่า ทั้งรัฐมนตรี คู่สมรสและบุตร ต้องไม่รับของขวัญใดๆ หากยากที่จะปฏิเสธเพื่อไม่ให้เสียมารยาท เมื่อรับมาแล้วควรส่งมอบไปยังสำนักงานรัฐมนตรี หรือมอบไปยังปลัดกระทรวงที่รัฐมนตรีผู้นั้นสังกัดอยู่

 กรณีผู้รับประสงค์จะเก็บรักษาของขวัญนั้นไว้ อาจขอซื้อจากรัฐบาลโดยชำระเงินตามราคาที่กำหนดอย่างเป็นทางการ หรือหากมูลค่าของขวัญชิ้นนั้นมีราคาน้อยกว่า 50 ดอลลาร์สิงคโปร์ (1,192 บาท, ค่าเงิน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ เท่ากับ 23.85 บาท วันที่ 26 ตุลาคม 2561) ให้ผู้รับเก็บสิ่งของนั้นไว้ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงิน

หรือหากปลัดกระทรวงเห็นว่า ของขวัญนั้นมีความน่าสนใจให้นำไปจัดแสดงหรือใช้งานภายในภารกิจของกระทรวง และในกรณีที่รัฐมนตรีประสงค์จะแลกเปลี่ยนของขวัญตอบแทน การซื้อของขวัญดังกล่าว ถือเป็นค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ส่วนการประเมินมูลค่าของขวัญอย่างเป็นทางการนั้น ให้ประเมินโดยผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจากปลัดกระทรวงการคลัง

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,514 วันที่ 17-19 ตุลาคม 2562

ส่อง 6 กฎเหล็ก ‘สิงคโปร์’  ต้นแบบคุมเข้มรัฐมนตรี