‘สุวิทย์’ โพสต์ BCG Model คืออะไร...ใครอยากรู้บ้าง??

12 ต.ค. 2562 | 08:01 น.

 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ โพสต์เฟสบุ๊คแจงแนวคิด "BCG Model" แบบที่เข้าใจง่ายๆดังข้อความต่อไปนี้

‘สุวิทย์’ โพสต์ BCG Model คืออะไร...ใครอยากรู้บ้าง??

    "ใครที่อยากรู้ว่า “BCG Model” คืออะไร  แล้วคนไทยจะได้อะไรบ้าง ผมจะมาถอดรหัสให้ทุกคนเข้าใจอย่างง่าย ๆ กันครับ"

      แนวคิด BCG Model ก็คือการสร้างความสมดุลให้ “เศรษฐกิจสามารถเติบโตไปควบคู่กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน” โดยนำองค์ความรู้ การบริหารจัดการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาต่อยอดความเข้มแข็ง นั่นก็คือ การนำคุณค่าจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมมาแปลงเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นการนำผลผลิตทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ มาปรับเปลี่ยนระบบการบริโภคและการผลิตที่นำไปสู่กระบวนการที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อรักษาความสมดุลและตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน

BCG มี 3 องค์ประกอบสำคัญ ซึ่งสามารถอธิบายได้ตามนี้เลยครับ

B = Bioeconomy คือ การนำทรัพยากรชีวภาพมา “ผลิตให้คุ้มค่าที่สุด” โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย 

C = Circular economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมีคอนเซปต์ให้เข้าใจสั้นๆ ก็คือ “การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด” ของที่ใช้ในการผลิตต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 

G = Green economy เป็นระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นการสร้างนวัตกรรมรวมถึงการจัดการสภาพสังคมให้ “กระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด” 

‘สุวิทย์’ โพสต์ BCG Model คืออะไร...ใครอยากรู้บ้าง??

      ซึ่งในปัจจุบันเราได้ใช้ BCG Model เป็นรูปธรรมแล้วในหลายโครงการ อย่างเช่น นำความรู้และเทคโนโลยี มาพัฒนามะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง โดยดูแลการบริหารจัดการวัตถุดิบครบวงจร พัฒนากระบวนการก่อน ระหว่าง และหลังการฉายรังสี จนได้คุณภาพดีตามข้อกำหนดการนำเข้าของประเทศสหรัฐฯ สามารถส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จในรอบ 12 ปี  เป็นผลงานการวิจัยของวช.ที่สร้างมูลค่ากับสินค้าเกษตรของไทย 

      เมื่อไม่นานมานี้ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือได้มีการนำเสนอ BCG Startup ที่รวมผลงานที่ขับเคลื่อน BCG Model เป็นรูปธรรมหลายผลงานที่น่าสนใจ นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล อาทิ Recute ระบบการจัดการขยะรีไซเคิล, NU Bio Bags พลาสติกชีวภาพเพื่อสิ่งแวดล้อมจากกากกาแฟที่สามารถย่อยสลายได้ 100%, การปลูกผักพร้อมทานในบรรจุภัณฑ์ โดย ทิวา อินโนเวท และ TRIBES ผลิตภัณฑ์กาแฟ ชา ของกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงรายที่มุ่งสร้างความยั่งยืนด้วยพลังชุมชน ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง 7 สถาบัน ได้แก่ ม.เชียงใหม่ ม.แม่โจ้ ม.แม่ฟ้าหลวง ม.พะเยา ม.นเรศวร ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์ และ ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม

      "นับเป็นตัวอย่างที่ใช้การวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการมูลค่าหลายพันล้านบาทต่อปี ผมจะทยอยมาเล่าให้ฟังถึงแนวทางขับเคลื่อน BCG ของอว.ต่อไปนะครับ และผมคิดว่า BCG Model นี้จะช่วย ขับเคลื่อนประเทศได้ในอีกหลายภาคส่วน เรียกได้ว่าครอบคลุมและตอบโจทย์หลักที่เราตั้งใจจะ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยคนไทยทุกภาคส่วนจะได้มีส่วนร่วม และเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนครับ"