25 ตุลาฯ ซีพี ...ไม่พาไฮสปีดแหกโค้ง

13 ต.ค. 2562 | 02:05 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ยื้อเกือบ 1 ปี สำหรับการลงนามในสัญญา โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนาม บิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่า 2.2 แสนล้านบาท ระหว่าง กิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (หรือกลุ่ม CPH) กับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) จากเส้นตายวันที่ 15 ตุลาคม 2562 เลื่อนเป็นวันที่ 25ตุลาคม 2562 ล่าสุดทุกปัญหาน่าจะสะเด็ดนํ้า ทั้งการตั้งคณะกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทยชุดใหม่, แผนส่งมอบพื้นที่รื้อย้ายสาธารณรูปโภค และการตอบรับอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มซีพี ว่า พร้อมเซ็นสัญญาเรียกเสียง เฮ ไปพร้อมกับความโล่งอก ให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี เดินหน้าต่อได้ เสมือนกระดูกสันหลัง กระจายความเจริญให้กับพื้นที่

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุอย่างมั่นใจว่า เลขาธิการคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ประสานไปยังกลุ่มซีพีอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งทางกลุ่มซีพีได้ยืนยันว่าพร้อมที่จะเข้ามาเซ็นสัญญาตามกำหนดเวลาวันที่ 25 ตุลาคมนี้ โดยถ้อย แถลงดังกล่าวถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าวันดังกล่าวจะไม่เลื่อนอีกแล้ว

25 ตุลาฯ ซีพี ...ไม่พาไฮสปีดแหกโค้ง

สำหรับปัญหาการขาดคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) นั้น ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการ รฟท. ชุดใหม่ตามกฎหมายแล้ว ซึ่งกระทรวงการคลังได้เห็นชอบส่งให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว หลังจากนั้นได้ส่งเรื่องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการ รฟท. ได้ทันที โดยไม่ต้องมีการประชุม เพราะมีอำนาจตามตำแหน่ง และในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ จะเสนอรายชื่อคณะกรรมการ รฟท. ชุดใหม่ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ

 

ขณะที่นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ EEC กล่าวว่า การส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน สามารถดำเนินการไปได้แล้ว 72% ประกอบด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ 1. ระยะทางระหว่างสถานีพญาไท-สถานีสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงค์ พร้อมส่งมอบพื้นที่ได้ทันที 2. ระยะทางระหว่างสถานีสุวรรณภูมิ-สถานีอู่ตะเภา คณะทำงานส่งมอบพื้นที่จะสามารถดำเนินการส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดได้ภายใน 1 ปี 3 เดือน ทำให้ระยะทางตั้งแต่สถานีพญาไท-สถานีอู่ตะเภา เปิดให้บริการได้ในปี 2566-2567 3. สถานีพญาไท-ดอนเมือง ระยะทาง 22 กิโลเมตร เป็นส่วนที่ดำเนินการได้ยากที่สุด เพราะมีต้องมีการเคลื่อนย้ายระบบสาธารณูปโภค เกี่ยวข้องกับ 3 กระทรวง 8 หน่วยงาน คาดว่าจะใช้เวลาในการส่งมอบพื้นที่ 2 ปี 3 เดือน ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2567-2568

“การส่งมอบพื้นที่ทั้งหมด ทางผู้ชนะการประมูลได้รับทราบเงื่อนไขดังกล่าวหมดแล้ว ซึ่งไม่มีปัญหาใดๆ ในการเซ็นสัญญา เพราะว่าทุกหน่วยงานอยากให้โครงการนี้เกิดขึ้น เพราะหากสร้างสนามบินเสร็จแต่รถไฟไม่เสร็จจะทำให้เกิดปัญหาในการเชื่อมต่อได้” 

จากนี้รอดูกันว่าวันที่ 25 ตุลาคม 25 62 จะมาตามนัดกันหรือไม่ 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3513 ระหว่างวันที่ 13-16 ตุลาคม 2562