เชฟรอนบีบวางประกัน กดค่ารื้อแท่นเหลือ 1.5 หมื่นล้าน

11 ต.ค. 2562 | 02:30 น.

 

กระทรวงพลังงาน ล้มกระดานค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมกว่า 1 แสนล้านบาท เปิดช่องให้ผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณ-บงกช ยื่นแผนประมาณการค่าใช้จ่ายใหม่ ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ผู้รับสัมปทานเสนอจ่ายเฉพาะที่รัฐสั่งให้รื้อถอน 50 แท่นเท่านั้น

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมทั้ง 4 ราย ประกอบด้วย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และมิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น ผู้ดำเนินงานในแหล่งก๊าซเอราวัณ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทย แลนด์ฯ ผู้ถือหุ้นในแหล่งก๊าซบงกช

จะต้องมาวางหลักประกันค่ารื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมทั้งหมดเต็มจำนวนราว 1 แสนล้านบาท เพื่อใช้เป็นหลักประกันค่ารื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมกลางอ่าวไทยจำนวนราว 250 แท่น เป็นของแหล่งเอราวัณประมาณ 200 แท่น ต้องวางหลักประกัน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และบงกชประมาณ 50 แท่น ต้องวางหลักประกัน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯภายใน 120 วัน หรือครบกำหนดในวันที่ 11 ตุลาคม 2562 นี้

ทั้งนี้ ผู้รับสัมปทานต่างชาติ เห็นว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากแท่นผลิตปิโตรเลียมประมาณ 200 แท่น รัฐจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อหลังหมดสัญญาสัมปทานปี 2565-2566 ไม่ใช่ภาระหน้าที่ และจะไม่วางหลักประกันเต็มจำนวนดังกล่าว หากเจรจาไม่ได้ข้อยุติ ก็จะส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางผู้รับสัมปทานต่างชาติ ได้ระงับกระบวนการยื่นฟ้อง อนุญาโตตุลาการแล้ว และเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้จัดทำแผนงานการรื้อถอน ประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน มาให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพิจารณาใหม่ เท่ากับว่าเป็นการยกเลิกการ วางหลักประกันค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมเต็มจำนวนที่กำหนดภายในวันที่ 11 ตุลาคมนี้ไปโดยปริยาย

ทั้งนี้ กฎกระทรวง ว่าด้วยการกําหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559 ข้อ 11 ได้เปิดช่องให้ผู้รับสัมปทานเสนอ การประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนที่คลาดเคลื่อน หรืออธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีอํานาจสั่งให้ผู้รับสัมปทานแก้ไข เปลี่ยน แปลง หรือ ส่งให้อธิบดี พิจารณาการแก้ไขให้แล้วเสร็จ และแจ้งผู้ รับสัมปทานทราบภายใน 180 วัน

ส่วนการพิจารณาหรือเจรจาจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะต้องหารือกับผู้รับสัมปทานทั้ง 3 ราย ให้ได้ข้อยุติภายในเดือนมีนาคม 2563 และหลังจากนั้น จะแจ้งผลการพิจารณา รวมทั้งมูลค่าหลักประกันที่ต้องวางให้ผู้รับสัมปทานทราบภายใน 120 วัน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ข้อเสนอของผู้รับสัมปทานที่เสนอมานั้น ต้องการวางหลักประกันค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียม เฉพาะที่รัฐไม่นำไปใช้ประโยชน์ต่อ ซึ่งเบื้องต้นประมาณไว้ที่ 50 แท่น เป็นของแหล่งเอราวัณเกือบทั้งหมดหรือราว 1.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่แท่นของแหล่งบงกชจะเก็บไว้ไปใช้ประโยชน์ต่อเกือบทั้งหมด ส่วนผลการหารือจะออกมาอย่างไรนั้น อยู่ระหว่างพิจารณาในรายละเอียดตามข้อกฎหมาย 

หน้า 15 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3512 วันที่ 10-12 ตุลาคม 2562

เชฟรอนบีบวางประกัน  กดค่ารื้อแท่นเหลือ 1.5 หมื่นล้าน