ปปง.ปลื้มคุมเข้มโอนเงิน  ธุรกรรมต้องสงสัยลด  ก.ค.เหลือ2หมื่นล.

09 ต.ค. 2562 | 10:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ปปง.เผยธุรกรรมโอนเงินออนไลน์ 7 เดือนเพิ่ม 10.98% ขณะที่ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยลดลง 1.32% แจงร่างแก้ไขกฎกระทรวง ต้องรายงานวงเงินโอนข้ามประเทศ ตั้งแต่ 5 หมื่นบาทหวังยกระดับเทียบเท่ามาตรฐานสากล เตรียมรับประเมินจาก FATF อีกรอบปี 64

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า .. …โดยกำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามม. 16 ของพระราชบัญญัติปปง.ที่ต้องดำเนิน ซึ่งมีทั้งหมด 9 อาชีพให้รายงานธุรกรรมที่ให้บริการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามประเทศ มูลค่าตั้งแต่ 5 หมื่นบาท สถาบันการเงินผู้ส่งคำสั่งโอนและสถาบันการเงินผู้รับคำสั่งโอน ต้องจัดส่งคำสั่งโอนเงินมีข้อมูลของผู้โอนและผู้รับโอน

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินระบุว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อาจเห็นสัญญาณการโอนเงินข้ามประเทศที่มีความผิดปกติ เพราะเท่าที่ทราบ แต่ละปีประเทศไทยมีเงินหายไปจากระบบจำนวนมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการไม่ให้ความร่วมมือของประชาชน โดยเฉพาะผู้ทรงอิทธิพลที่ใช้บริการหรือบางส่วนที่ยังคงใช้บริการโพยก๊วนหรือการโอนเงินใต้ดินและรวมถึงการใช้บริการโอนเงินที่รายงานตัวเลขไม่ตรงกับจำนวนจึงไม่สามารถเก็บข้อมูลได้

ขณะที่นางสาววิลาวัลย์ ลิมปนะวรรณกูล ผู้อำนวยการส่วนพัฒนานโยบายการกำกับสำนักงาน ปปง.เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า วงเงินตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไปที่ทำธุรกรรมโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามประเทศทั้งสถาบันการเงินที่ส่งคำสั่งโอนและสถาบันการเงินผู้รับคำสั่งโอนต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าทั้งต้นทางและปลายทางที่ครบถ้วนนั้น เป็นเรื่องเก่าที่ใช้กันอยู่แล้ว ไม่ได้เพิ่มภาระต่อผู้ประกอบการแต่อย่างใด

ปปง.ปลื้มคุมเข้มโอนเงิน  ธุรกรรมต้องสงสัยลด  ก.ค.เหลือ2หมื่นล.

วิลาวัลย์  ลิมปนะวรรณกูล

 

ทั้งนี้เนื่องจากกฎกระทรวงฉบับเดิม แปลข้อความมาเขียนกฎหมายแล้วไม่สามารถใช้ได้จึงต้องทำให้เป็นมาตรฐานสากล เพราะไปกำหนดให้ Correspondent Bank หรือธนาคารตัวแทน ซึ่งเป็นตัวกลางต้องรู้จักลูกค้าโดยที่ไม่ได้เห็นหน้าลูกค้าก็ไม่สามารถหาข้อมูลลูกค้าได้อยู่แล้ว แต่จริงๆสถาบันการเงินต้นทางและปลายทางจะต้องรู้รายละเอียดเกี่ยวกับลูกค้าแต่ละรายที่ทำธุรกรรมโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ชื่อเต็มของผู้สั่งโอน หมายเลขบัญชีของลูกค้าผู้สั่งโอนที่อยู่ของลูกค้าผู้สั่งโอนหมายเลขประจำตัวประชาชน หรือเอกสารที่รัฐออกให้ หรือวันเดือนปีและสถานที่เกิดรวมถึงชื่อเต็มของผู้รับเงินหมายเลขบัญชีของผู้รับเงิน

ที่ผ่านมาปปง.กำหนดให้การทำธุรกรรมผ่านผู้ประกอบอาชีพตามม.16 ตั้งแต่วงเงิน 7 แสนบาทหรือที่เป็นการโอนเงินหรือชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไปต้องมีข้อมูลการระบุตัวตนของลูกค้าหรือระบุตัวผู้รับปลายทางให้ครบถ้วนและเพียงพอตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งต้นฉบับเดิมตามมาตรฐานสากลนั้น ใช้วงเงิน 1,000 ยูโรหรือเทียบเท่า 5 หมื่นบาท โดยกำหนดเป็นแนวปฏิบัติให้สถาบันการเงินและผู้ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ให้ประกอบธุรกิจโอนเงินจะต้องมีข้อมูลรายละเอียดที่ครบถ้วนของผู้โอนและผู้รับโอนเป็นหลักฐาน

 

ทั้งนี้ แนวปฏิบัติดังกล่าวต้องทำตามมาตรฐานสากล ซึ่งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน หรือ FATF: Financial Action Task Force จะเข้ามาประเมินประเทศไทยถึงแนวทางการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายในปี 2564 อีกครั้ง

สำหรับเดือนกรกฎาคม 2562 มีธุรกรรมโอนเงินรวม 14.9 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 10.46% 
โดยเป็นธุรกรรมโอนเงินหรือชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์  13.7 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.98% และธุรกรรมของผู้ประกอบอาชีพตามม.16 และธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย 21,993 ล้านบาทลดลง 1.32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,512 วันที่ 10-12 ตุลาคม 2562

        ปปง.ปลื้มคุมเข้มโอนเงิน  ธุรกรรมต้องสงสัยลด  ก.ค.เหลือ2หมื่นล.