เศรษฐกิจมะกันเสี่ยงถดถอยเพิ่ม ยิ่งเปิดศึก‘เทรดวอร์’ยิ่งขาดดุลการค้า

12 ต.ค. 2562 | 02:40 น.

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยังคงอยู่ในกระบวนการเจรจา เป็นภัยคุกคามสำคัญที่ทำให้การวิจัยแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของสำนักวิจัยต่างๆ พากันปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตลงมา และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ สงครามการค้ายังเป็นตัวแปรที่ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯมีความเสี่ยงที่จะก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) เพิ่มมากขึ้น

 

ผลการสำรวจล่าสุดของ สมาคมเศรษฐศาสตร์ธุรกิจแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ NABE (National Association Business Economics) ซึ่งจัดทำระหว่างวันที่ 9-16 กันยายน 2562 สอดคล้องกับดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายดัชนีที่ส่งสัญญาณบ่งบอกว่า แนวโน้มความเสี่ยงเกี่ยวกับเศรษฐกิจถดถอยนั้นได้เพิ่มสูงขึ้นในระยะหลังๆนี้ โดยสาเหตุหลักมาจากสงครามการค้าที่คุกรุ่นระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศคู่ค้า

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

นายเกร็กโกรี ดาโก ประธานคณะวิจัยของ NABE เปิดเผยว่า กระแสการกีดกันทางการค้า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการค้าที่ขยายวงกว้างออกไป และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงทั่วโลก คือปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

 

ประมาณ 40% ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ร่วมตอบคำถามการสำรวจของ NABE ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มีความเห็นว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) น่าจะปรับลดดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ ขณะที่ส่วนใหญ่เห็นว่าเฟดคงจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันไปจนถึงสิ้นปี

 

ภาคการผลิตแผ่วแรง

ก่อนหน้านี้ มีหลากหลายดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าสัญญาณเตือนภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้นเริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว เช่น กิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของเดือนกันยายนที่ดำดิ่งลงสู่ระดับตํ่าที่สุดในรอบกว่า 10 ปี และการขยายตัวของอุตสาหกรรมภาคบริการที่ชะลอตัวแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2559

 

4 ใน 5 ของนักเศรษฐศาสตร์ (จำนวนทั้งหมด 54 คน) ที่ร่วมตอบคำถามการสำรวจของ NABE คาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังขยายตัวในอัตราน้อยลง คาดว่า จีดีพีของสหรัฐฯในปี 2562 นี้จะทรงตัวอยู่ที่อัตราเฉลี่ย 2.3% และหลังจากนั้นก็จะขยายตัวน้อยลงไปอีกที่อัตรา 1.8% ในปีหน้า (2563) นับเป็นการปรับลดตัวเลขคาดการณ์จากผลสำรวจในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

เศรษฐกิจมะกันเสี่ยงถดถอยเพิ่ม ยิ่งเปิดศึก‘เทรดวอร์’ยิ่งขาดดุลการค้า

นอกจากนี้ ยังคาดหมายว่า การผลิตในภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ จะชะลอตัวแรงจากเดิมที่เคยมีการเติบโต 4% ในปี 2561 คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับเพียง 0.9% ในปีนี้ เป็นการปรับตัวเลขลดลงอย่างมากจากเดิมที่คาดว่าจะโตถึง 4.6%

 

ความคาดหมายที่ลดลงเกี่ยวกับผลกำไรของบริษัทเอกชนขณะที่เชื่อว่าเศรษฐกิจในภาพรวมจะชะลอตัวลง ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินของสหรัฐฯอย่างเห็นได้ชัด โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหลักของตลาดหลัก ทรัพย์วอลล์สตรีทหล่นฮวบทำสถิติในวันเดียวเมื่อตัวเลขการจ้างงานและตัวเลขในภาคอุตสาหกรรมการผลิตชี้ให้เห็นว่า สงครามการค้าที่สหรัฐฯเปิดศึกอยู่กับจีนในเวลานี้ได้สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของสหรัฐฯเองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ สถาน การณ์ยิ่งดูยํ่าแย่ลงไปอีกเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (2 ต.ค.) เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯประกาศเดินหน้ามาตรการขึ้นภาษีตอบโต้สินค้าจากสหภาพยุโรป (อียู) มูลค่าวงเงิน 7,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งได้รับการตอกกลับจากอียูว่าจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯเช่นกัน

 

เร็วหรือช้าก็จ่อถดถอย

ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า สงครามการค้าไม่เพียงส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและบริการ แต่ยังสั่นคลอนความมั่นใจของผู้บริโภคและภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งจะทำให้การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคชะลอตัวลง ขณะที่บริษัทเอกชนก็จะชะลอการตัดสินใจลงทุน

 

นักเศรษฐศาสตร์ธุรกิจที่ตอบคำถามการสำรวจของ NABE คาดหมายว่า การลงทุนของภาคธุรกิจเอกชนสหรัฐฯจะยังคงแผ่วบางไปจนถึงปีหน้า (2563) ส่วนการลงทุนจากต่างประเทศคาดว่าจะขยายตัวเพียง 2.9% ในปีนี้ และ 2.1% ในปีหน้า

เศรษฐกิจมะกันเสี่ยงถดถอยเพิ่ม ยิ่งเปิดศึก‘เทรดวอร์’ยิ่งขาดดุลการค้า

เมื่อถามว่าคาดหมายภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯจะเกิดขึ้นเมื่อใด? ส่วนใหญ่ (69%) ตอบว่า สหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงกลางปี 2564 มีเพียงส่วนน้อยคือ 24% ที่คาดว่าเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปีหน้า (2563) และ 7% คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ (2562)

 

ในส่วนที่เกี่ยวกับสงครามการค้านั้น แม้ทั้งสหรัฐฯและจีนจะตั้งกำแพงภาษีใส่กันและกัน แต่นักเศรษฐศาสตร์ของ NABE ส่วนใหญ่เชื่อว่านโยบายการค้าที่รัฐบาลสหรัฐฯนำมาใช้ (ซึ่งเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า) จะไม่ทำให้สหรัฐฯบรรลุเป้าหมายในการลดการขาดดุลการค้า ในทางตรงข้ามเชื่อว่ามันจะทำให้สหรัฐฯยิ่งขาดดุลการค้าเพิ่มมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าสหรัฐฯจะขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นจาก 920,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2561 เป็น 981,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ และยังจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.022 ล้านล้านดอลลาร์ในปีหน้า (2563) 

 

ข่าวที่เกี่ยวเนื่อง

IMF เตือนโลกรับมือศก.ชะลอแรงสุดในรอบ 10 ปี

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3512 ระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2562