เปิดรับฟังความเห็น 5 โมเดลโรงไฟฟ้าชุมชน

08 ต.ค. 2562 | 09:06 น.

“สนธิรัตน์” เดินหน้าโมเดลโรงไฟฟ้าชุมชน เปิดรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน 9.ต.ค.นี้ นำข้อเสนอและอุปสรรค มาปรับปรุงรูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชน ให้ฐานรากมีรายได้จากการถือหุ้นในโรงไฟฟ้า พร้อมประชุมนัดแรก กองทุนอนุรักษ์พลังงาน แก้หลักเกณฑ์การใช้เงินใหม่ 10 ต.ค.2562  

 

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 9 ตุลาคม  2562 กระทรวงพลังงานจะเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เอกชนผู้มีประสบการณ์สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ทั้งชีวมวล ก๊าซชีวภาพ จากการใช้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวมทั้งจากพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์ และจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงจัดทำรายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการศึกษาที่หลากหลายในแต่ละชนิดของเชื้อเพลิงมา 5 รูปแบบ จึงอยากจะเปิดรับฟังความเห็นของผู้มีประสบการณ์จากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนประเภทต่างๆ ทั้งที่ประสบความสำเร็จและที่ยังไม่ประสบความสำเร็จว่ามีปัญหาติดขัดอะไร รวมถึงข้อเสนอแนะจากองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอด้วย

 

ทั้งนี้ คาดว่ารูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชน ที่จะให้วิสาหกิจชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และสร้างรายได้ให้กับชุมชนี้ จะมีความชัดเจนเร็วสุดภายในเดือนตุลาคม 2562 นี้

เปิดรับฟังความเห็น 5 โมเดลโรงไฟฟ้าชุมชน

                                              นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

นอกจากนี้ในวันที่ 10 ตุลาคม 2562 จะมีการประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรกของคณะกรรมฯในรัฐบาลชุดนี้ หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ครบเต็มตามจำนวน เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา ประกอบด้วย นายพรายพล คุ้มทรัพย์, นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา, นายกฤษฎา บุญราช, นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล, นายแนบบุญ หุนเจริญ และนายธีร เจียศิริพงษ์กุล

 

สำหรับการประชุมดังกล่าว จะมีการหารือเกี่ยวกับการปรับหลักเกณฑ์ การอนุมัติเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน หรือการนำเงินไปสนับสนุนโครงการต่างๆ โดยเฉพาะการนำไปสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน

 

ทั้งนี้ ตามแผนงานที่ผ่านมากองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ ได้กำหนดกรอบวเงินในช่วง 5 ปี(2560-2564) ไว้จำนวน 6 หมื่นล้านบาท  แบ่งเป็นวงเงินสำหรับส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี