เศรษฐกิจโดรน (Drone economy)

06 ต.ค. 2562 | 13:52 น.

บทความพิเศษ

พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

อดีตรองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และ ในฐานะส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย

   บทความนี้ ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง Angel has Fallen ที่มีผู้ก่อการร้ายจำนวนน้อยมาพร้อมกับเทคโนโลยีล้ำสมัยในรูปแบบ “กองทัพโดรน” ซึ่งสามารถสะท้อนถึงความเป็นจริงที่ว่า เรื่องที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์นั้น อาจจะกลายเป็นเรื่องจริงในสักวันหนึ่งข้างหน้า เนื่องจากแนวโน้มของการใช้เทคโนโลยีโดรนมีเพิ่มมากขึ้น และได้แทรกซึมไปในเกือบทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก

    โดรน คือ ยานพาหนะทางอากาศที่ไร้คนขับ หรือ unmanned aerial vehicles (UAVs) ที่กำลังกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคยมากขึ้นในชีวิตประจำวันและการทำงานในปัจจุบัน ซึ่งในทุกวันนี้โดรนเริ่มมีบทบาทในด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น โดรนอาจกลายเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพอย่างมาก เนื่องจากในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา โลกกำลังจะเปลี่ยนจากเที่ยวบินธรรมดาที่ใช้รับส่งผู้คน ไปสู่เที่ยวบินแบบไร้คนขับ 

เศรษฐกิจโดรน (Drone economy)

   หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว เทคโนโลยีโดรนยังคงอยู่ในห้องทดลองและกำลังอยู่ในช่วงทดสอบ ส่วนใหญ่ถูกใช้ในทางทหาร ซึ่งมีราคาแพง แต่หลังจากนั้นอีก 5 ปี โดรนเริ่มถูกนำมาใช้งานจริง แต่ยังคงมีราคาแพงมาก และยังมีการคัดค้านการนำโดรนมาใช้ในเชิงพาณิชย์ เพราะหลายคนมองว่าโดรนเป็นเครื่องมือทางการทหาร แต่ในวันนี้โดรนมีการแพร่หลายอย่างมาก เราสามารถหาซื้อโดรนได้ที่ห้างสรรพสินค้าทั่วไป และสามารถนำมาใช้งานได้จริงควบคู่ไปกับการใช้ซอฟต์แวร์บนคลาวด์ ซึ่งปัจจุบันนับว่าโดรนมีราคาถูกลงอย่างมาก ใช้งานง่ายขึ้น และยังสามารถสร้างประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อีกด้วย โดยมีการนำโดรนไปใช้ในหลายๆ อุตสาหกรรม อย่างเช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง ภาพยนตร์​ การเกษตร พลังงาน การประกันภัย โครงสร้างพื้นฐาน การสื่อสาร เป็นต้น 

เมื่อพูดถึงโดรน หลายคนอาจนึกถึงโดรนที่เป็นของเล่นหรือเป็นกล้องที่บินได้ แต่ในขณะนี้การติดตั้งซอฟต์แวร์ทางธุรกิจในโดรน ทำให้โดรนกลายเป็นแพลตฟอร์มการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างแท้จริง และเป็นอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่เปิดกว้างและถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายเหมือนอย่างเช่นสมาร์ทโฟนที่มีศักยภาพในการใช้งานแอปพลิเคชันที่ไร้ขีดจำกัด เช่นเดียวกับเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยแอปพลิเคชั่น (App economy) ที่มีใช้งานอย่างแพร่หลายและเป็นการใช้ที่สร้างสรรค์ในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และแอปพลิเคชันที่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำและมีสมรรถภาพสูง จะถูกพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่มีขีดจำกัด

   ในการสำรวจโลกในอดีตจะเก็บข้อมูลจากดาวเทียม และเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ แต่โดรนทำได้ดีกว่า เนื่องจากเป็นเซ็นเซอร์ที่สามารถรวบรวมข้อมูลที่มีความละเอียดสูงจากท้องฟ้า สามารถเก็บข้อมูลได้ถี่กว่าและชัดเจนมากกว่าดาวเทียม เนื่องจากไม่ต้องถูกเมฆบัง และมีราคาถูกกว่าการใช้เครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ โดยโดรนสามารถเข้าถึงมุมมองสูงๆ ได้ มีความแม่นยำจากการสแกนด้วยเลเซอร์ และยังเป็นเหมือนอินเทอร์เน็ตที่สามารถเชื่อมต่อสิ่งต่างๆ บนท้องฟ้า (Internet of flying things) ได้ 

   สำนักวิจัย Goldman Sachs ได้คาดการณ์ว่าตั้งแต่ปี 2016 - 2020 โดรนจะสร้างโอกาสทางการตลาดในสหรัฐอเมริกาได้มากถึง 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยโดรนจะสามารถสร้างมูลค่าในภาคการทหารได้มากถึง 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากโดรนทำให้เกิดทางเลือกที่มีความปลอดภัยมากขึ้น ราคาถูกลง และมีความสามารถในงานด้านการบินของกองทัพมากขึ้น ส่วนตลาดโดรนสำหรับผู้บริโภคเริ่มเติบโตมากขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยเราจะพบเห็นนักเล่นโดรนมือสมัครเล่นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และได้มีการคาดการณ์ว่าทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐ จะมีการใช้จ่ายเกี่ยวกับโดรนประมาณ 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเติบโตรวดเร็วอย่างมาก สอดคล้องกับการศึกษาของสำนักวิจัย McKinsey & Company ที่คาดการณ์ว่าภายในปี 2026 โดรนเชิงพาณิชย์ ทั้งการใช้งานขององค์กรและผู้บริโภค จะทำให้ GDP ภายในประเทศของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 31,000 - 46,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

   นอกจากนี้ การศึกษาของ PwC ได้คาดการณ์ว่าภายในปี 2030 โดรนจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรมากถึง 42,000 ล้านปอนด์ และสามารถประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายจากการใช้เทคโนโลยีโดรนได้มากถึง 16,000 ล้านปอนด์ต่อปี และประมาณการว่าในระยะยาวจะมีผู้คนทำงานภายใต้เศรษฐกิจโดรน (drone economy) มากกว่า 628,000 ตำแหน่งงาน ซึ่งคาดว่าตัวเลขนี้จะสูงขึ้นอีก โดยจะเป็นงานที่ต้องอาศัยทักษะสูง อย่างเช่น การสร้างและเขียนโปรแกรมเกี่ยวกับโดรน เนื่องจากตลาดและอุตสาหกรรมเดิมจะมีการนำโดรนมาใช้เพิ่มมูลค่าให้กับตลาดมากขึ้น 

   ในปี 2018 คนขับรถส่งอาหารในเนเธอร์แลนด์มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ 116 ครั้ง และมีรายงานว่าในแต่ละปีมีคนขับรถส่งอาหารจำนวน 451 คนในสหราชอาณาจักร ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หากมีการนำโดรนมาใช้จะทำให้สามารถลดอุบัติเหตุบนท้องถนนจากการจัดส่งอาหารลงได้ ดังนั้นจึงมีบริการจัดส่งอาหารด้วยโดรนเกิดขึ้น โดยบริษัท Manna.aero รับประกันเวลาในการจัดส่งสูงสุดไม่เกิน 3 นาที ในขณะที่ผู้ใช้บริการเสียค่าใช้จ่ายเพียงเศษเสี้ยวของ 5 ยูโรเท่านั้น จากเดิมที่ต้องเสียค่าจัดส่ง 5 - 15 ยูโรต่อมื้อให้กับผู้ให้บริการจัดส่งอาหาร อย่างเช่น Deliveroo, JustEat, Uber Eats ฯลฯ 

 

   โลกกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดจากการใช้โดรนและเซ็นเซอร์ที่กำลังเริ่มแพร่หลายไปทั่วโลก ซึ่งการใช้งานดังกล่าวเป็นการสร้างข้อมูลจำนวนมาก ทำให้จุดเปลี่ยนที่สำคัญไม่ได้อยู่ที่ฮาร์ดแวร์หรืออุปกรณ์อีกต่อไป แต่กลับเป็นข้อมูลที่โดรนและเซ็นเซอร์ต่างๆ สร้างและรวบรวมขึ้น ซึ่งประเด็นสำคัญนับจากนี้คงจะเป็นเรื่องของวิธีการนำข้อมูลจำนวนมหาศาลทั้งหมดมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั่นเอง  

   การนำโดรนมาใช้ในการปฏิบัติงานบางประเภทอาจสำเร็จได้ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง จากเดิมที่ต้องใช้เวลาหลายวัน อย่างเช่นการสำรวจพื้นที่เพาะปลูก ในขณะที่มีต้นทุนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการใช้วิธีการอื่น และโดรนกำลังกลายเป็นสิ่งสำคัญในด้านความปลอดภัยในการทำงานแทนแรงงานมนุษย์สำหรับในงานที่เป็นอันตราย เช่นการตรวจสอบหอคอยมือถือ หรือการพ่นยาฆ่าแมลง และโดรนยังนำเสนอมุมมองใหม่ในการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง อย่างเช่น ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ต่ำลง ในการสำรวจภาคสนามหรือการสำรวจโรงงาน ที่โดรนสามารถทำการสำรวจได้อย่างรวดเร็ว และเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง  

   เทคโนโลยีโดรนได้รับการพัฒนาอย่างมาก ในขณะที่กฎระเบียบเกี่ยวกับโดรนยังไม่เป็นที่ชัดเจนเท่าที่ควร  ทั้งในเรื่องความเป็นส่วนตัว และการรบกวนการบิน เป็นต้น แม้ว่าโดรนจะสามารถทำงานอัตโนมัติได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยนักบิน แต่กฎระเบียบในปัจจุบันยังคงกำหนดให้โดรนต้องมี “ผู้ดำเนินการ” ภาคพื้นดิน (แม้ว่าจะเป็นเพียงผู้กดปุ่มควบคุมบนสมาร์ทโฟนและเฝ้าดูโดรนทำงานเท่านั้น) ขณะที่โดรนมีความชาญฉลาดขึ้น ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลต้องเริ่มพิจารณาสิ่งที่นอกเหนือไปจากเรื่องของการบินหรือเรื่องของมุมมองที่เห็นทางกายภาพ ซึ่งนั่นก็คือเซ็นเซอร์และระบบการมองเห็นที่กว้างไกลกว่าสายตามนุษย์บนพื้นดิน 

   เศรษฐกิจโดรน (drone economy) เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงและจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดแอปพลิเคชั่นโดรนก็จะเติบโตขึ้นตามมา ทำให้ผู้คนสามารถใช้งานโดรนได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น นอกจากนี้มีการใช้โดรนสำหรับการค้นหาและช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ใช้ในการดับเพลิง ใช้ในการการเฝ้าระวังสัตว์ป่า ใช้เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย (ที่ Facebook กำลังลงทุน) การให้บริการจัดส่งเวชภัณฑ์ในประเทศกำลังพัฒนา การทำแผนที่ปลูกพืชได้อย่างรวดเร็ว และยังสามารถฉีดพ่นยากำจัดศัตรูพืชหรือหว่านเมล็ดพันธุ์ใหม่ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงพื้นที่เพาะปลูกอีกด้วย  

   ดังนั้นโดรนจะให้ผลประโยชน์ที่มากไปกว่าในเรื่องของการประหยัดต้นทุน นอกจากนี้ในอนาคตโดรนจะถูกพัฒนาให้ไม่จำเป็นต้องใช้นักบินในการควบคุมอีกต่อไป หากกฎะเบียบในอนาคตมีความชัดเจน การพัฒนาที่แท้จริงของโดรนจะมาพร้อมกับการขับเคลื่อนด้วยตัวเองอย่างอิสระ ทำให้ในอนาคตอาจมีการใช้เทคโนโลยีโดรนในการสำรวจสิ่งต่างๆ บนโลกจากท้องฟ้า สำรวจใต้น้ำ โดยเฉพาะในมหาสมุทรที่ลึกมากๆ หรือในป่าลึกๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้มนุษย์อีกต่อไป  

   แม้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีโดรนอาจยังไม่พร้อมสมบูรณ์ หรือยังไม่สามารถให้บริการได้อย่างกว้างขวางและครอบคลุม แต่ก็เป็นเทคโนโลยีที่กำลังจะมาแรงในอนาคต และเมื่อถึงเวลานั้นมันจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างสิ้นเชิง 

 

เศรษฐกิจโดรน (Drone economy)