บุกแขนกลอุตฯยานยนต์ ชูแอพโซลิดเวิร์ค ออกแบบ3D

08 ต.ค. 2562 | 06:35 น.

แดสสอล์ท ชูแอพ “โซลิดเวิร์ค” 3D ออก แบบสำหรับระบบแขนกลอัตโนมัติ เตรียมรับอุตสาหกรรมยานยนต์โตว่า 5.9 พันล้านดอลลาร์ ฟีโบ้ เผยรายได้เด็กจบใหม่ด้านหุ่นยนต์สูงถึง 80,000 บาทต่อเดือน แต่ยังขาดตลาด

นายสตีเว่น ชิว ผู้บริหาร บริษัท แดสสอล์ท ซิสเต็มส์ จำกัด เปิดเผยว่า ผลการศึกษาของGlobal Market Insights ระบุว่า ตลาดอุปกรณ์แขนกลสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่าเกินกว่า 5.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯภายในปี 2567 เช่นเดียวกับวิวัฒนาการของอุตสาหกรรม ที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการผลิต ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตแบบแมสหรือการผลิตครั้งละจำนวนมากเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคต้องการความเป็นเอกลักษณ์ (Unique) และ Customize มากขึ้น สำหรับแอพพลิเคชัน SOLIDWORKS นั้นใช้เพื่อการสร้างและออกแบบเทคโนโลยีแขนกลให้สามารถจับยึดชิ้นงานได้อย่างแม่นยำ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และการผลิต ด้วยการทำงานบนคลาวด์แพลตฟอร์มที่ช่วยสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ออกแบบ วิศวกร ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา และมีความปลอดภัยของข้อมูลสูง

บุกแขนกลอุตฯยานยนต์ ชูแอพโซลิดเวิร์ค ออกแบบ3D

ด้านนายชัชชัย ผลมูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบรนเวิร์คส จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ และเป็นกลไกหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์แขนกลในภาคอุตสาหกรรม ด้วยระบบจับยึดชิ้นงานที่ปรับแต่งตามความต้องการของลูกค้า รวมไปถึงหุ่นยนต์สำหรับการทำงานร่วมกับเครื่องจักร อุปกรณ์แขนกลอัจฉริยะ (End of Arm Tooling) และโซลูชัน Robotic Cell ซึ่งระบบแขนกลอัจฉริยะ เป็นสิ่งสำคัญของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ คืออุปกรณ์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับชิ้นส่วนและส่วนประกอบต่างๆ

“เบรนเวิร์คส ก่อตั้งมาประมาณ 15 ปี และได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในการผลิต ซึ่งการออกแบบด้วยระบบ 3D Design จากแดสสอล์ท ตอบโจทย์และทำให้เห็นภาพมากขึ้น ขณะที่ในปัจจุบันมีเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามา ส่งผลให้ความต้องการในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ลดลง บริษัทจึงได้มีการขยายไปสู่ธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้น แต่ก็ยังต้องพึ่งพาระบบหุ่นยนต์และออโตเมชันเช่นเดียวกัน”

 

นายวุฒิชัย วิศาลคุณา รักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม/ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมอัตโนมัติ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (FIBO) กล่าวเสริมว่า จากเหตุกการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อหลายปีที่ผ่านมาทำให้ทางฟีโบ้ ได้เริ่มพัฒนา Risk Area Surveying Robot หรือ หุ่นยนต์สำรวจพื้นที่เสี่ยง เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการสำรวจและตรวจจับวัตถุระเบิด มีการออกแบบจากซอฟต์แวร์ 3D ซึ่งหุ่นยนต์ดังกล่าวมีการติดตั้งกล้องตรวจจับวัตถุระเบิด และตรวจจับความร้อนได้แบบเรียลไทม์ เชื่อมต่อผ่านเครือข่าย 4G โดยสามารถตรวจสอบได้ทั้งบนภาคพื้นดินและทางอากาศ อย่างไรก็ตามในแต่ละปีฟีโบ้ มีการผลิตนักศึกษาที่มีความรู้ความสามารถด้านหุ่นยนต์ป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมเพียงแค่ 60-70 คนต่อปี ขณะที่บุคลากรที่มีความรู้ด้านหุ่นยนต์หลังจากจบการศึกษาสามารถสร้างรายได้ตั้งแต่ 20,000-80,000 บาทต่อเดือน เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดมาก 

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3511 ระหว่างวันที่ 6-9 ตุลาคม 2562