คิดสักนิดก่อนยกธุรกิจให้กับลูก

05 ต.ค. 2562 | 10:55 น.

คอลัมน์ บิสิเนส แบ็กสเตจ โดย ผศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล

 

ผู้ก่อตั้งธุรกิจหลายคนฝันถึงวันที่ตนเองสามารถส่งต่อธุรกิจให้กับลูกๆ บริหารต่อไปได้ ในขณะที่มีผลการศึกษาจำนวนมากที่พบปัญหาในการวางแผนการส่งต่อมรดก และมีอยู่บ้างเล็กน้อยกล่าวถึงแนวทางที่จะทำให้การถ่ายโอนธุรกิจประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพ่อแม่ยังไม่ได้ให้ลูกๆ เข้ามาทำงานในธุรกิจที่กำลังเติบโตขึ้น และยังเกี่ยวกับความคาดหวังที่ให้ไว้กับลูกอีกด้วย แม้มีงานวิจัยบอกว่า 36% ของธุรกิจครอบครัวสามารถถ่ายโอนไปยังทายาทรุ่นต่อไปได้สำเร็จ แต่ในความจริงแล้วอาจน้อยกว่านั้น ดังนั้น Josh Patrick ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งได้แนะนำกฎ 8 ข้อ ที่ควรพิจารณาเพื่อเพิ่มโอกาสในการถ่ายโอนธุรกิจครอบครัวให้ประสบความสำเร็จ ดังต่อไปนี้

1. กฎในการเข้าร่วมธุรกิจ มีหลายครอบครัวให้ลูกเข้ามาทำงานในธุรกิจหลังจากเรียนจบอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งอาจเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ก็ได้ เพราะจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกมีความสามารถเพียงพอ หากพวกเขาไม่ได้ทำงานให้กับบริษัทอื่นๆและได้รับการโปรโมตในหลายด้านเสียก่อน ที่จริงแล้วคุณอาจไม่ต้องการพวกเขาในบริษัทเลยก็ได้ ดังนั้นควรปฏิบัติต่อลูกๆ เหมือนพนักงานคนอื่นในบริษัท โดยให้พวกเขาผ่านกระบวนการทดสอบในการจ้างงานเช่นเดียวกับพนักงานคนอื่น ๆ กำหนดธรรมนูญครอบครัวที่มีกฎการเข้าร่วมในธุรกิจ แต่อย่างตั้งกฎจำนวนมากจนเกินไป เอาแค่ที่จำเป็นต้องทำ และเมื่อตั้งกฎขึ้นมาแล้วก็ต้องปฏิบัติตามให้ได้ด้วย

2. มีงานให้ทำจริง บ่อยครั้งที่เมื่อให้ลูกๆ เข้ามาในธุรกิจแล้วต้องสร้างงานให้พวกเขาทำ ซึ่งที่จริงแล้วควรให้สมาชิกในครอบครัวเข้ามาในธุรกิจเมื่อมีงานจริงๆ ที่พวกเขามีคุณสมบัติเหมาะสม เช่น คุณไม่สามารถให้ลูกเข้ามาในฐานะประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการได้ (Chief Operating Officer) หากพวกเขาเป็นเพียงพนักงานขายในบริษัทอื่นเท่านั้น ไม่ควรให้ลูกเข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในธุรกิจจนกว่าจะมีคุณสมบัติเหมาะสม

3. จ่ายให้เหมาะสม 1 ใน 2 สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อลูกๆเข้ามาในธุรกิจครอบครัว คือได้รับค่าตอบแทนมากเกินไปหรือน้อยเกินไป และปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือพนักงานคนอื่นสังเกตเห็นว่าลูกๆ ของคุณได้รับการปฏิบัติอย่างไร ดังนั้นการจ่ายค่าตอบแทนต้องอยู่ในเกณฑ์ของบริษัทซึ่งไม่มากหรือน้อยเกินไป

4. ต้องแน่ใจว่าลูกๆ สามารถทำให้ธุรกิจเติบโตได้ ธุรกิจที่ไม่เติบโตคือธุรกิจที่กำลังจะตายหากลูกไม่สามารถขยายธุรกิจและเพิ่มมูลค่าได้ บางครั้งสถานการณ์อาจไม่ดีมากทั้งอุตสาหกรรม ถ้าเป็นเช่นนั้นอาจพิจารณาเกี่ยวกับการขายให้กับบุคคลที่ 3 บางครั้งเศรษฐกิจก็แย่ลงซึ่งอาจทำให้ธุรกิจอยู่ต่อไปไม่ได้ หากลูกเข้ามาบริหารธุรกิจและยังไม่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ภายในระยะเวลา 5 ปี ควรคิดให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะขายหรือโอนธุรกิจให้พวกเขา

5. ใครควรเป็นหุ้นส่วน ลูกๆ ที่ทำงานในธุรกิจเท่านั้นควรได้รับหุ้นส่วนของธุรกิจ หากมีลูกทั้งที่ทำงานและลูกที่ไม่ได้ทำงานในธุรกิจแต่มีหุ้นส่วนทั้งคู่ย่อมจะมีความขัดแย้งเป็นธรรมดา เช่น ลูกที่ทำงานในธุรกิจต้องการนำเงินปันผลไปลงทุนต่อขณะที่ลูกที่ไม่ได้ทำงานต้องการเป็นเงินสดออกมา เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจไม่เป็นปัญหาในขณะที่มีพ่อแม่อยู่ด้วย แต่มักจะกลายเป็นปัญหาใหญ่เมื่อพ่อแม่เกษียณหรือเสียชีวิตไปแล้ว

6. ขายธุรกิจเท่านั้น อย่าให้เปล่า ธุรกิจที่ได้รับมาอาจจะไม่มีคุณค่าต่อผู้รับ เพราะลูกๆ ไม่ได้ทำงานเพื่อจ่ายค่าธุรกิจดังนั้นจึงไม่สมควรได้รับธุรกิจมาเปล่าๆ นี่คือหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวมีค่าน้อยลง เนื่องจากผู้ซื้อไม่ได้จ่ายเงินซื้อมา จากมุมมองการวางแผนส่งมอบมรดก (estate planning) จะเข้าใจได้ว่าลูกๆ จะไม่พอใจพี่น้องคนใดคนหนึ่งได้รับธุรกิจ แต่หากลูกซื้อธุรกิจจากพ่อแม่การวางแผนส่งมอบมรดกจะกลายเป็นเรื่องง่าย เพียงแค่แยกสิ่งที่พ่อแม่เหลืออยู่ออกจากของลูกๆ เพราะเมื่อเริ่มแบ่งหุ้นส่วนของธุรกิจครอบครัวจะมีความยุ่งยากในการวางแผนส่งมอบมรดกอย่างมาก

7. พ่อแม่ต้องปล่อยมือ นี่อาจเป็นสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับพ่อแม่ ซึ่งคุ้นเคยกับการตอบคำถามเมื่อมีคนในที่ทำงานคอยวนเวียนมาถาม ความภาคภูมิใจและอีโก้ที่มีน่าจะเกิดขึ้นในบริษัทนี่เอง แต่เมื่อเริ่มตอบคำถามน้อยลง ความถี่ของโทรศัพท์ก็จะดังน้อยลง ในที่สุดเมื่อเกษียณแล้วก็จะไม่ใช่คนในบริษัทหรือในอุตสาหกรรมนี้อีกต่อไป สิ่งเหล่านี้แม้ยากที่จะจัดการแต่สิ่งสำคัญคือเมื่อเปลี่ยนจากการทำธุรกิจแล้วควรหันไปทำอย่างอื่นที่จะผูกมัดคุณไว้ได้ เพราะความเสียดายของผู้เกษียณจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในภายหลังหากไม่มีแผนที่ดีว่าจะทำอะไรต่อไป

 

8. ลูกจะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ลูกอาจจะทำสิ่งที่แตกต่างจากพ่อแม่ พวกเขาเริ่มต้นเมื่อธุรกิจอยู่ในสถานะที่แตกต่างจากพ่อแม่ เพราะไม่ได้พยายามสร้างธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้น หากลูกไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและจัดระบบธุรกิจเพื่อให้เกิดการเติบโตมากขึ้นได้ พ่อแม่ก็อาจมีปัญหา แต่หากลูกสามารถสร้างมูลค่าการเติบโตขององค์กรได้และมีกลยุทธ์ที่ดีแต่พ่อแม่ไม่ชอบ ลูกก็อาจมีปัญหา ดังนั้นพ่อแม่แค่ต้องยอมรับความแตกต่างของสิ่งต่างๆ ว่ามันเป็นวิถีของโลกก็เท่านั้น

ทั้งนี้ในเรื่องของครอบครัวนั้น การถ่ายโอนความเป็นเจ้าของธุรกิจว่ายากแล้ว แต่การถ่ายโอนไปยังสมาชิกในครอบครัวยากยิ่งกว่ามาก กฎทั้ง 8 ข้อในข้างต้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ดีเท่านั้น เพราะแต่ละครอบครัวย่อมมีความแตกต่างกัน จึงอาจจะพบกับปัญหาอื่นที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ก็เป็นได้ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมในการรับมือซึ่งอาจต้องอาศัยคำแนะนำที่ดีและที่ปรึกษาที่ฉลาดจะทำให้สามารถประสบความสำเร็จในการถ่ายโอนธุรกิจครอบครัวได้ง่ายขึ้น 

ที่มา : Patrick, Josh. 2019. Kids Taking Over the Business? 8 Things to Consider. Available: https://www.divestopedia.com/2/4697/pre-sale/family-issue/8-issues-to-think-about-in-family-transitions

ข้อมูลเพิ่มเติม : www.famz.co.th

หน้า 31 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3511 ระหว่างวันที่ 6-9 ตุลาคม 2562