7 วิธีส่งออกรับมือบาทแข็งค่ายาว

02 ต.ค. 2562 | 08:58 น.

จากเงินบาทไทยที่แข็งค่ามากติดอันดับต้นๆของภูมิภาคเอเชีย ซึ่ง ณ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออกของสินค้าไทย จากทำให้ราคาสินค้าไทยสูงขึ้น มีผลต่อรายได้และกำไรของผู้ประกอบการที่ลดลงในเวลานี้นั้น

 นายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค่าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ได้แนะนำวิธีบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับผู้ส่งออกผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ”ใน 7  วิธีดังนี้

1.การชำระเงินผ่าน Agent ของประเทศผู้นำเข้าที่อยู่ในประเทศไทย 2.ในกรณีค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน ควรทำข้อตกลงในการชำระเงินเป็นสกุลบาท 3.การใช้บัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit : FCD)  ซึ่งเหมาะกับผู้ที่มีทั้งการส่งออกและนำเข้า เพราะเมื่อได้เงินต่างประเทศมาไม่ต้องขายทันที แต่เก็บไว้เพื่อจ่ายค่าสินค้าในอนาคต โดยมีต้นทุนจากการฝากและถอน

7 วิธีส่งออกรับมือบาทแข็งค่ายาว

 

4.การกำหนดซื้ออัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (Fx Forward)ซึ่งเป็นการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า โดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน และจำนวนเงินที่ต้องการซื้อขายไว้คงที่ตั้งแต่วันที่ทำสัญญา 5.การซื้อสิทธิในการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (Fx Option) ของธนาคารพาณิชย์ ณ เวลาในอนาคต ตามสกุลเงินจำนวนเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดไว้ในสัญญา

7 วิธีส่งออกรับมือบาทแข็งค่ายาว

6.การใช้ Direct Exchange Rate และ Direct Forward โดยใช้สกุลเงินของคู่ค้าโดยไม่ต้องอ้างอิงดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะเงินสกุลที่แข็งค่าใกล้เคียงกับเงินบาท อาทิ เงินยูโร ปอนด์สเตอลิง โคเรียน วอน เป็นต้น และใช้วิธีการทำ Direct Quote ในสกุลเงินซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีการทำข้อตกลงให้ดำเนินการร่วมกันแล้ว 6 ประเทศ อาทิ เงินหยวนของจีน, มาเลเซียนริงกิต, อินโดนีเซียนรูเปียะห์  และล่าสุดคือเงินเยนของญี่ปุ่น โดยที่สามารถแปลงค่าเงินเป็นเงินบาทได้ทันที ไม่ต้องแปลงเป็นดอลลาร์สหรัฐฯก่อน รวมถึงให้เลือกใช้เงินสกุลท้องถิ่นสำหรับการค้ากับชาติสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย

 

 7.การบริหารรายได้กับรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้สอดคล้องกัน(Natural Hedge) ด้วยการกำหนดให้รายได้ หรือรายจ่ายเป็นสกุลเงินเดียวกัน และมีการส่งมอบในเวลาที่ตรงกัน หรือในเวลาที่ใกล้เคียงกัน เป็นการหักลบกลบหนี้กัน ซึ่งทั้ง 7 วิธีนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเงินบาทที่ยังมีทิศทางที่แข็งค่าได้