ยันเซ็นไฮสปีดทัน 15 ต.ค

30 ก.ย. 2562 | 10:52 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

 

 

 

วันนี้ (30ก.ย.)  เมื่อเวลา 13.30 น.ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 9/2562 โดยมีรายละเอียดสำคัญดังนี้

 

นายคณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เผยว่า การประชุมในวันนี้ กพอ.เห็นชอบระบบการใช้บริการเบ็ดเสร็จ EEC - OSS โดย สกพอ.ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรับคำขอ อนุมัติ และอนุญาติ โดยจะลดเวลาและขั้นตอนได้ถึง 50% ที่สำคัญใช้เอกสารประกอบเพียง 42 รายการ จากเดิม 60 รายการ โดยผู้ประกอบการสามารถใช้บริการผ่านทาง www.eeco.or.th/eec-oss

 

ทั้งนี้ สกพอ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 กระทรวงได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม ร่วมมือเอกชนจัดทำ หลักสูตรระยะสั้น เพื่อพัฒนาบุคลากรป้อนเข้าสู่พื้นที่อีอีซี ด้วยงบประมาณ 400 ล้านบาท พร้อมกับตั้ง ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นประธาน

 

ด้านระเบียบคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ว่าด้วยกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ทาง สกพอ.ได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุง (ร่าง) ระเบียบฯ ดังกล่าว ตามความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ โดยเงินกองทุน ให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ดังต่อไปนี้ 1.เพื่อการพัฒนาพื้นที่หรือชุมชน 2.สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาและให้ทุนการศึกษาแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือที่อยู่ใกล้เคียง 3.ค่าใช้จ่ายอื่นที่จะส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

 

ขณะที่แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้มีการรับฟังความเห็นจากผู้นำในจังหวัด ผู้แทนในระดับจังหวัด อำเภอ ท้องถิ่นและชุมชน กลุ่มเฉพาะต่างๆ จำนวน 40 ครั้ง โดยประชุมแบบทางการ 25 ครั้งและไม่เป็นทางการ 15 ครั้ง ซึ่ง สกพอ. และ ยผ. ได้ร่วมกันชี้แจง ทำความเข้าใจ กับกลุ่มเครือข่ายเพื่อนตะวันออกฯ โดยที่ประชุม กพอ. เห็นชอบรายการประกอบแผนผังท้าย (ร่าง) ประกาศ กพอ. เรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. ตามที่เสนอ  และ มอบหมาย สกพอ. นำเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติ ต่อไป

 

ความก้าวหน้าโครงการ อีอีซี นั้นนางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยว่า หลังจากสัญญาร่วมทุนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตะพุด ระยะที่ 3 ผ่าน ครม.เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2562 ทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมลงนามกับเอกชนในวันที่ 1 ต.ค. 2562 ซึ่งมีมูลค่า 30,000 ล้านบาท และเป็นโครงการแรกของอีอีซี

 

ในส่วนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและการเมืองการบินภาคตะวันออก ทางคณะกรรมการคัดเลือกจะดำเนินการต่อโดยกำหนดพิจารณาเอกสารทางเทคนิคให้จบภายในวันที่ 9 ต.ค. 2562 และเปิดซองการเงินเพื่อหาผู้เข้าเจรจาสัญญา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.2562

 

ด้านความคืบหน้า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น นายวรวุฒิ มาลา เผยว่า ทาง กพอ.รับทราบและวางกำหนดการส่งมอบที่ดินให้แล้วเสร็จโดยเร็ว คือ ส่งมอบที่ดิน 72% ภายใน 1 ปี หลังลงนามในสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้เอกชนเริ่มก่อสร้างโครงการและเห็นชอบให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดการรื้อย้ายท่อก๊าซยาว 12 กม. ยกเสาไฟฟ้าแรงสูง 16 จุด กระทรวงมหาดไทยเร่งรัดย้ายท่อประปาขนาดใหญ่ยาว 2 กม. และกระทรวงคมนาคมโดย รฟท.ใช้สิทธิ์เร่งรัดให้ย้ายท่อน้ำมันของบริษัทเอกชน ระยะทาง 44 กม.รวมทั้งเร่งรัด พรฎ.เวนคืนที่ดิน พร้อมกันนี้ทาง กพอ.จะเร่งดำเนินการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาประชุมให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะทำให้การส่งมอบพื้นที่โครงการเป็นไปตามแผน และโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จได้ตามเป้าหมาย และพร้อมเซ็นสัญญาในวันที่ 15 ต.ค.นี้