กนอ.ดันมาบตาพุดเฟส 3 เข้าครม. 1 ต.ค.นี้

30 ก.ย. 2562 | 09:40 น.

กนอ. เผยความคืบหน้าการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่1) คาดเข้าครม. พิจารณาอนุมัติ 1ตุลาคมนี้ พร้อมเซ็นสัญญาร่วมทุนกับบริษัทร่วมค้ากัลฟ์ –พีทีที แทงค์  ส่งสัญญาณสร้างความมั่นใจ เรียกนักลงทุน ทั้งในและต่างชาติ เข้าลงทุนในพื้นที่อีอีซี

 

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่1)ว่า ภายหลังจากที่ คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership (PPP) NET Cost ได้ข้อยุติการเจรจาเงื่อนไขในสัญญาการเข้าร่วมลงทุนของกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีที แทงค์ (บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด) ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการอัยการสูงสุด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

กนอ.ในฐานะหน่วยงานขับเคลื่อนการพัฒนาท่าเรือฯมาบตาพุด เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (1 ตุลาคม 2562) เพื่อพิจาณาเห็นชอบและอนุมัติในการดำเนินโครงการเพื่อจะนำไปสู่การลงนามในสัญญาร่วมทุนระหว่าง กนอ. และ บริษัทร่วมค้าฯ ในขั้นตอนต่อไปในเดือนตุลาคมนี้

กนอ.ดันมาบตาพุดเฟส 3 เข้าครม. 1 ต.ค.นี้

                                   นางสาวสมจิณณ์ พิลึก

“โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่1) มีมูลค่าการลงทุน 45,480 ล้านบาท ในระยะเวลา 30 ปี ใน หลังจากนี้ กนอ.จะมีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนหลัง ครม.อนุมัติ เพื่อจัดพื้นที่ส่งมอบให้กับบริษัทเอกชนเข้าดำเนินการออกแบบรายละเอียดการพัฒนาในส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือ infrastructure โดยทันที ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะในการพัฒนาแล้วเสร็จและเปิดให้บริการนักลงทุนได้เป็นตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2568 และเชื่อว่าจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในด้านการลงทุนทั้งในและต่างชาติได้อย่างแน่นอน”

 

กนอ.ดันมาบตาพุดเฟส 3 เข้าครม. 1 ต.ค.นี้

นางสาวสมจิณณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศภาคตะวันออก (กพอ.) จะดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ให้เป็นไปตามสัญญาร่วมลงทุนโดยมีจำนวน 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย ผู้แทนจาก กนอ. ผู้แทนจาก สกพอ. ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้แทนจากบริษัทเอกชนร่วมลงทุน เพื่อให้การดำเนินงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญซึ่งเป็น 1 ใน 5 EEC Project List ของการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป และเป็นส่วนสำคัญสำหรับการนำเข้า – ส่งออกขนถ่ายสินค้ารองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

สำหรับการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3  แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ได้แก่ การขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน450 ไร่ การขุดลอกร่องนํ้า และแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเรือก๊าซรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568

 

ช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนพัฒนาก่อสร้างในส่วนของท่าเรือ(Superstructure)กนอ.จะดำเนินการออกทีโออาร์เพื่อประกาศเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมพัฒนาโดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลวรองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลวได้ 4 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568