ป้องมาเลย์ฟ้อง ให้สิทธิขายไฟ แลกล้มดิวLNG

01 ต.ค. 2562 | 23:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สะพัดวงการพลังงาน ประเคนโรงไฟฟ้าก๊าซ 300 เมกะวัตต์ ให้มาเลเซียขายไฟฟ้าให้ไทย แลกปิโตร นาสไม่ฟ้องเรียกค่าเสียหาย กบง.ล้มประมูลนำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตัน เผยทั้ง 2 ฝ่ายได้ประโยชน์  จับตาสัญญา Global DCQ สิ้นปีนี้ ปิดฉากกฟผ.นำเข้าแอลเอ็นจี

การยกเลิกลงนามในสัญญานำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ปริมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี ระหว่างบริษัท ปิโตร นาส แอลเอ็นจี ของมาเลเซีย กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ตามมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ยังเป็นประเด็นร้อนที่คนในวงการพลังงานจับตาว่าปิโตรนาสจะดำเนินการอย่างไร หลังจากข้อตกลงในการยืนราคาตํ่าสุดที่ปิโตรนาสประมูลได้ มีผลสิ้นสุดในสิ้นเดือนกันยายน 2562 นี้ หรืออาจะยืดระยะเวลาการยืนราคานี้ออกไปอีก

ทั้งนี้ กบง.มอบหมายให้กฟผ.ไปเจรจาหาข้อยุติในการนำเข้าแอลเอ็นจีกับปิโตรนาส โดยไม่ให้เกิดการเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายใดๆ และนำกลับมารายงานกบง.รับทราบ ล่าสุดมีกระแสข่าวออกมาว่า เพื่อไม่ให้ทาง
ปิโตรนาส ทำการฟ้องร้องหรือประณามต่อประชาคมโลก จากการเปิดประมูลนานาชาติ หรืออินเตอร์บิดดิ้ง จนชนะการประมูล แต่ต้องมาถูกยกเลิกในการลงนามซื้อขายก๊าซแอลเอ็นจี สร้างความเสียหายทางธุรกิจนั้น

ล่าสุดมีการยื่นข้อเสนอ ที่จะให้ทางมาเลเซียไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ขนาดกำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ บริเวณชายแดน และส่งไฟฟ้าเข้ามาขายในไทย ซึ่งจะทำให้ปิโตรนาส ไม่ได้รับความเสียจากการขายก๊าซที่ถูกยกเลิกไป และยังมีรายได้จากการขายไฟฟ้า ขณะเดียวกันฝ่ายไทยจะได้รับความมั่นคงด้านไฟฟ้าของภาคใต้เพิ่ม
มากขึ้น

แหล่งข่าวจากวงการพลังงาน เปิดเผยว่า ข้อเสนอที่ยื่นไปนั้น เพื่อไม่ให้ประเทศถูกฟ้อง ลดความน่าเชื่อถือในสายตาของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ จากการออกไปเชิญชวนให้เข้ามาร่วมประมูล เพราะเรื่องดังกล่าวมีการดำเนินงานอย่างถูกขั้นตอนและมีความโปร่งใสในการแข่งขันราคา เมื่อไม่ได้ผู้ชนะประมูลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ และมายกเลิกภายหลังถือเป็นเรื่องที่ต่างชาติรับไม่ได้ และเป็นสิทธิที่จะไปเรียกร้องกับผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหายหรือฟ้องร้องต่อประชาคมโลกได้

อย่างไรก็ตามให้จับตาหลังจากสิ้นเดือนกันยายน 2562 นี้ ว่าทางปิโตรนาส จะยังคงยืนราคาแอลเอ็นจีที่ประมูลได้ออกไปหรือไม่ เพราะหากไม่ยืนราคาต่อไป แสดงให้เห็นว่าได้มีข้อตกลงเกิดขึ้นแล้วที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย ขนาด 300 เมกะวัตต์ แต่หากมีการยืดการยืนราคาตํ่าสุดที่ประมูลมาได้ออกไปอีก แสดงให้เห็นว่าการเคลียร์ประมูลนำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตันต่อปี ยังไม่ได้ข้อยุติ และอาจจะนำไปสู่การลงนามกับปิโตรนาสในการนำเข้าแอลเอ็นจีได้

“ขณะนี้ลือกันมากในวงการพลังงาน ว่าทางกระทรวงพลังงาน ได้ให้สิทธิมาเลเซียไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซ ขนาด 300 เมกะวัตต์ และส่งไฟฟ้ามาขายไทย จากปัจจุบันเป็นเพียงการซื้อขายไฟฟ้าเท่าที่มีความจำเป็นเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ปิโตรนาสป้อนก๊าซเข้าโรงไฟฟ้าและขายไฟฟ้าทำให้ไม่เกิดความเสียหายจากการถูกยกเลิก ลงนามในสัญญากว่า 1 แสนล้านบาท ในช่วง 8 ปีได้”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่กบง.มีมติให้กฟผ.ไปเร่งลงนามซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ Global DCQ เพื่อป้อนก๊าซฯให้กับโรงไฟฟ้าของกฟผ.ทั้งหมดในระยะ 20 ปีข้างหน้า ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2562 นั้น เนื่องจากปัจจุบันเป็นสัญญาปี
ต่อปี หลังจากที่สัญญาระยะยาวได้สิ้นสุดลงไปเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หากมีการลงนามในสัญญาดังกล่าวแล้ว เท่ากับว่าเป็นการปิดทางการนำเข้าแอลเอ็นจีของกฟผ.ไปโดยปริยาย เพราะต้องไปรับก๊าซฯจากปตท.แทนตามสัญญา จึงเป็นที่มาว่า ทำไมกฟผ.ถึงยังไม่เร่งลงนามในสัญญา Global DCQ เนื่องจากต้องรอความชัดเจนในการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจากปิโตรนาส เพื่อจะลดสัดส่วนการซื้อก๊าซจากปตท. 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3509 วันที่ 29 กันยายน - 2 ตุลาคม 2562

ป้องมาเลย์ฟ้อง  ให้สิทธิขายไฟ  แลกล้มดิวLNG