รายได้Q3วูบ แบงก์ส่อไม่ฟื้น

29 ก.ย. 2562 | 00:11 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

โบรกคาดรายได้แบงก์ไตรมาส 3 ลดลง 4% เผย NIM ลดลงหลังธปท.ปรับลดดอกเบี้ย มองมีกำไรจากเงินลงทุนในตราสารหนี้จากการปรับลดพอร์ตการลงทุน ส่วนเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเป็น 3.66% ชี้รับผลบวกเฮียริ่ง TFRS9 นำสำรองส่วนเกินมาทยอยรับรู้เป็นรายได้ใน 5 ปี

นายธนวัฒน์ รื่นบันเทิง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า คาดผลประกอบการไตรมาส 3 ปีนี้ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ลดลง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากฐานที่สูงในปีก่อน หากตัดรายการพิเศษออกผลประกอบการจะทรงตัวถึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านสินเชื่อในช่วงไตรมาส 3 จะเพิ่มขึ้น 3.8% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 3.7% ตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

อย่างไรก็ตาม ด้านส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) คาดจะลดลงเป็นส่วนใหญ่ หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ยกเว้นธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) ที่จะมีรายการพิเศษจากรายได้ดอกเบี้ยของบริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) (AQ) ทำให้โดยรวมแล้ว NIM ของกลุ่มน่าจะทรงตัวจากไตรมาสก่อน และรายได้ค่าธรรมเนียมคาดจะเพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และ 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากค่าธรรมเนียมของสินเชื่อและกองทุนที่เพิ่มขึ้น

รายได้Q3วูบ แบงก์ส่อไม่ฟื้น

นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนในพันธบัตรที่มีการปรับตัว ทำให้ธนาคารมีกำไรจากเงินลงทุนในตราสารหนี้ จากข้อมูลในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ธนาคารมีการปรับลดพอร์ตการลงทุน และย้ายเงินสดไปอยู่ในตลาด Interbank ซึ่งกำไรจากเงินลงทุนจะเพิ่มขึ้น แต่เงินปันผลจะลดลงชดเชยตามฤดูกาล ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) คาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.66% จากเดิม 3.64% นอกจากนี้ หลังจากที่ ธปท. ไม่ให้มีการตั้งสำรองทั่วไปตามแผนของ IFRS9 คาดว่ากลุ่มธนาคารจะเริ่มปรับลดการตั้งสำรองลง

ด้านบล.เคทีบี (ประเทศ ไทย) จก. ระบุว่า ยังคงนํ้าหนักการลงทุนในกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็น “เท่ากับตลาด” โดยมีมุมมองบวกเล็กน้อยในระยะยาวจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่อง TFRS9 จากการที่ธปท. ให้นำสำรองส่วนเกินมาทยอยรับรู้เป็นรายได้ใน 5 ปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อกลุ่มธนาคารในการบริหารกำไรได้ในอนาคต ทั้งนี้ จากการศึกษาผลกระทบต่อแนวโน้มกำไรของกลุ่ม หากมีการบังคับใช้จริง พบว่าธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) จะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้มากที่สุด เนื่องจากมีสำรองส่วนเกินสูงที่สุดและหลังจากหักสำรองเพิ่มเติมยังเหลือเป็น upside ต่อกำไรสุทธิในปี 2563 ทำให้ BBL จะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 5,846 ล้านบาท ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี (2563 - 2567) ส่วน KBANK จะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 5,756 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ ผลดีดังกล่าวจะไม่ได้รับเต็มๆ เพราะมีประเด็นลบอื่นซ่อนอยู่ โดยคาดว่าผลกระทบจากการทยอยรับรู้ระยะเวลา 5 ปี จะไม่ได้รับประโยชน์เต็มๆ เพราะหลังจากเริ่มใช้ TFRS9 แล้วยังมีประเด็นเรื่องของกำไรจากเงินลงทุนเผื่อขายในตราสารทุน (หุ้น) จะไม่สามารถรับรู้เป็นกำไรในงบกำไรขาดทุนได้แล้ว หากเกิดผลกำไรจากการขายหุ้นจะต้องเข้าสู่รายการกำไรสะสมในงบดุลแทน ซึ่งพบว่า KBANK และ BBL มีเงินลงทุนเผื่อขายในหุ้น (AFS) สูงที่สุดในกลุ่ม ซึ่งกำไรจากเงินลงทุนเฉลี่ยของ BBL อยู่ที่ 7,000 ล้านบาท และ KBANK อยู่ที่ 3,000 ล้านบาท

บล.บัวหลวง จก. ระบุว่า ตัวเลขสินเชื่อในกลุ่มธนาคารเดือนสิงหาคม 2562 สำหรับ 9 ธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% แม้ว่าจะมีการจ่ายคืนเงินกู้ก้อนใหญ่จากหลายๆ ธนาคาร โดยมองว่าสินเชื่อในเดือนกันยายน จะเติบโตต่อเนื่องจากกลุ่มสินเชื่อบริษัทและสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลัง โดยรวมธนาคารใหญ่ทั้ง KTB, KBANK, BBL และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) จะเป็นผู้นำการเติบโตของสินเชื่อ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3509 ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 2 ตุลาคม 2562