จับตาสัญญาร่วมลงทุน มาบตาพุดเฟส3 รัฐได้คุ้มหรือไม่?

25 ก.ย. 2562 | 07:30 น.

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมแทนนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบอนุมัติร่างสัญญาร่วมลงทุน ให้การนิคมอุตสาหกรรม(กนอ.) ร่วมลงนามในสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์และพีทีทีแทงค์ ที่ชนะการประมูลพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

 

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมครม.ครั้งนี้ ไม่ได้หารืออะไรเพิ่มเติมจากที่สำนักงานอัยการ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจสอบร่างสัญญาแล้ว และเสนอมาให้ครม.พิจารณา ซึ่งไม่มีรายละเอียดของสัญญา เป็นแค่เอกสารรายงานสรุปว่าบริษัทไหนที่ชนะการประมูลเท่านั้น

จับตาสัญญาร่วมลงทุน มาบตาพุดเฟส3  รัฐได้คุ้มหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตุว่า การอนุมัติร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการนี้เป็นไปอย่างเร่งรีบ และสร้างข้อกังขาให้กับหลายฝ่ายว่าเป็นไปอย่างรอบครอบหรือไม่  เนื่องจากโครงการที่ถูกจับตามาโดยตลอด นับแต่วันเปิดให้เอกชนยื่นซองประมูลโดยมีเอกชนเพียงกลุ่มเดียวยื่นข้อเสนอเข้ามา จนเป็นที่วิจารณ์ว่าผิดเงื่อนไขหรือไม่ และในการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ก็มีการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐมาเป็นระยะๆ รวมถึงรับข้อเสนอของเอกชนในการแก้ไขทีโออาร์ขึ้นมาใหม่ จากเดิมรัฐจะเป็นผู้ลงทุนเอง 1.29 หมื่นล้านบาท เปลี่ยนมาให้เอกชนลงทุนเองทั้งหมด

 

จนนำมาสู่ข้อยุติ และเสนอให้ครม.ของรัฐบาลชุดที่แล้วเห็นชอบ ให้เปลี่ยนแปลงจำนวนเงินร่วมลงทุนของรัฐ หักค่าสิทธิการร่วมลงทุนจากเอกชนสุทธิ 710 ล้านบาทต่อปี เป็นระยะเวลา 30 ปี รวมทั้งเปลี่ยนแปลงผลตอบแทนทางการเงินขั้นตํ่าของกนอ. จากการร่วมลงทุนกับเอกชนช่วงที่ 1 และช่วงที่ 2 รวมเท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิประมาณ 6,721 ล้านบาท (อัตราคิดลด 6.48%) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอการปรับปรุงหลักการดังกล่าว ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ของกนอ.ลดลงเหลือ 9.21% จาก 11.80% และมูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์สุทธิของโครงการ(NPV) ของกนอ.จากการร่วมลงทุนกับเอกชนช่วงที่ 1 (อัตราคิดลด 6.48%) จากเดิม 2,729 ล้านบาท เหลือ 139 ล้านบาท


จับตาสัญญาร่วมลงทุน มาบตาพุดเฟส3  รัฐได้คุ้มหรือไม่?

ขณะที่มูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์สุทธิของโครงการ(NPV) ของกนอ.จากการร่วมลงทุนกับเอกชนในช่วงที่ 2  (อัตราคิดลด 6.48%) ยังเท่าเดิมที่ 6,582 ล้านบาท เมื่อรวมมูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์สุทธิของโครงการ(NPV) ของกนอ.จากการร่วมลงทุนกับเอกชนทั้ง 2 ช่วง จะลดลงจาก 9,311 ล้านบาท เหลือ 6,721 ล้านบาทหรือลดลงไป 2,590 ล้านบาท และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนทางการเงินของเอกชนเพิ่มขึ้นเป็น 10.73% จากเดิม 10.06% และมูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์ตอบแทนสุทธิของโครงการ (NPV) ของเอกชน (อัตราคิดลด 7.47%) เพิ่มขึ้นเป็น 14,298 ล้านบาท จากเดิม 12,981 ล้านบาท

 

จากการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขดังกล่าว ส่งผลให้การลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนยืดเยื้อมาถึงรัฐบาลชุดนี้ จากกำหนดการเดิมที่จะมีการลงนามร่วมลงทุนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา