‘ค้าปลีก’อ่วม!ปัจจัยลบรุมฉุด

24 ก.ย. 2562 | 23:25 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ค้าปลีกไทยทรุด เหตุปัจจัยลบรุมเร้าเพียบ ทั้งสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ การเข้ามาของอี-คอมเมิร์ซ กำแพงภาษี ที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโต สมาคมผู้ค้าปลีกไทยแนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัวรับมือ

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกไทย บนเวที TRA RETAIL FORUM 2019 ว่า คาดว่าภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยในปีนี้จะเติบโต 2-3% ตํ่าสุดในตลาดอาเซียนที่เติบโตเฉลี่ย 9-10% ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยด้านสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่มีการลดค่าเงินหยวน และเงินบาทแข็งค่า ทำให้กระทบภาคส่งออกที่ปกติเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจประเทศจนมาถึงภาพรวมการเติบโตของธุรกิจค้าปลีก ซึ่งในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ค้าปลีกไทยกลับโตตํ่ากว่าค่าจีดีพี 1-2% ทั้งนี้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอีกตัว คือภาคการท่องเที่ยว ทำรายได้ให้ประเทศไทยอันดับ 4 ของโลกและมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 10 แต่การท่องเที่ยวไทย 80% มาจากจีน ฉะนั้นเมื่อค่าเงินหยวนอ่อน เงินบาทแข็ง หากจีนมาเที่ยวไทยต้องใช้จ่ายแพงขึ้น 20% จึงแน่นอนว่านักท่องเที่ยวจีนลดลงแน่ๆ

 

ด้านปัจจัยหลักที่จะทำให้ธุรกิจค้าปลีกอยู่ได้ในยุคที่ออนไลน์เข้ามามีบทบาทต่อพฤติกรรมของลูกค้าเป็นอย่างมากคือ เรื่องของการบริการที่ดี และกิจกรรมที่สร้างการเข้าถึงต่อตัวลูกค้าโดยตรง ในการเป็นแม็กเนตดึงลูกค้าให้เข้ามาในศูนย์ ที่ทางผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการดึงประสบการณ์ที่แตกต่างจากช่องทางออนไลน์เข้ามาเสริมทัพ

‘ค้าปลีก’อ่วม!ปัจจัยลบรุมฉุด

วรวุฒิ อุ่นใจ

“หากไม่มีการแก้ปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อนานถึง 4-5 ปี ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและภาพรวมการเติบโตของธุรกิจค้าปลีก ซึ่งแน่นอนว่าผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในสภาวะดังกล่าว ขณะปัจจัยภายในพบว่าปัญหาเศรษฐกิจไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่ามาตรการภาครัฐที่ออกมาในช่วงนี้เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ฉะนั้นควรแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง อาทิ ด้านกำแพงภาษีโดยลดอัตราภาษีนำเข้าเพื่อให้คนไทยซื้อสินค้าในประเทศมากขึ้น เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีมากกว่าการผูกขาดเพียง 1 ราย เป็นต้น”

อย่างไรก็ตามสำหรับภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในปี 2563 ประเมินว่ากลุ่มธุรกิจบริการและร้านอาหาร ยังสามารถเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวผู้บริโภคหรือลูกค้ายังต้องการประสบการณ์หน้าร้าน การเข้าไปใช้บริการ โดยที่ภาคออนไลน์ยังไม่สามารถ ขณะที่กลุ่มธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ ที่มีการปรับการทำตลาดสู่ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง หรือการดึงออนไลน์เข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจคืออีกกลุ่มผู้ประกอบการที่จะสามารถอยู่รอดได้ในยุคที่โลกออนไลน์เข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจค้าปลีก

 

อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดอุปสรรคของค้าปลีกไทยนอกจากเรื่องของโครงสร้างภาษี การเข้ามาของอี-คอมเมิร์ซแล้ว ยังมีเรื่องสินค้าหิ้วหรือพรีออร์เดอร์ในเกรย์มาร์เก็ต ที่กำลังกระทบต่อผู้ประกอบการ เนื่องจากปัจจุบันเกรย์มาร์เก็ตกำลังมีแนวโน้มเติบโตและได้รับความนิยมสูง โดยปัจจุบันสัดส่วนสินค้าออนไลน์มีการเติบโตถึง 20-30% หรือกินสัดส่วน 2-3% จากมูลค่าจีดีพีประเทศ หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท จากจีดีพีประเทศที่มีมูลค่า 16 ล้านล้านบาท ดังนั้นตรงนี้คือจะทำอย่างไรให้ค้าปลีกไทยมีการเติบโตทั้งระบบทั้งออนไลน์และออฟไลน์ 

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3507 ระหว่างวันที่ 22 - 25  กันยายน 2562