เฟรต ‘ฟอร์เวิร์ดเดอร์’ แข่งเดือด  สงครามการค้าทุบยอดหด

12 ก.ย. 2562 | 23:25 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สัมภาษณ์        

ธุรกิจรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ หรือ Freight Forwarder  เป็นหนึ่งในธุรกิจสำคัญในระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งการขึ้น-ลงของธุรกิจนี้จะผูกโยงอยู่กับภาคการส่งออกของประเทศ ที่เวลานี้อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก โดย 7 เดือนแรกปีนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยยังติดลบที่ 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน “ฐานเศรษฐกิจ” ฉบับนี้สัมภาษณ์พิเศษ นายเกตติวิทย์  สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) 1 ในผู้ให้บริการตัวแทนจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และโลจิส ติกส์แบบครบวงจร มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วโลกและยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) คนปัจจุบันด้วย

ภาพรวมปีนี้ไม่สดใส

“เกตติวิทย์” กล่าวว่า  ในปีนี้ภาพรวมธุรกิจ Freight Forwarder ไม่ค่อยสดใสนัก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลักที่สำคัญได้แก่ 1. สงครามการค้าทำให้การค้าโลก และการส่งออกของไทยหดตัวลง 2.อัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทแข็งค่ามากทำให้รายรับในรูปเงินบาทมีรายได้และกำไรที่ลดลง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงอื่นเช่น ความรับผิดชอบความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการขนส่ง การถูกปรับตามสัญญาบริการมีปัญหาน้อย

สำหรับลีโอ โกลบอลฯดำเนินธุรกิจมาปีนี้เป็นปีที่ 29 เริ่มต้นจากการเป็นผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ด้านการขนส่งทางทะเล (Sea Freight) ตามด้วยรับจัดการขนส่งทางอากาศ (Air Freight) ให้บริการพิธีการศุลกากร เป็นตัวแทนสายเดินเรือ ให้บริการลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์  และคลังเก็บสินค้าเพื่อให้ครอบคลุมการให้บริการด้านโลจิสติกส์ให้มากที่สุด

เฟรต ‘ฟอร์เวิร์ดเดอร์’ แข่งเดือด  สงครามการค้าทุบยอดหด

                                             เกตติวิทย์  สิทธิสุนทรวงศ์

“ปัจจุบันถ้าเป็น Sea Freight อย่างเดียวลีโอ โกลบอลฯ อยู่ในท็อปไฟว์ของประเทศ เพราะเรามีจุดแข็งด้านนี้ โดย Sea  Freight มีสัดส่วนประมาณ 65% ของรายได้รวมของบริษัท อีก 25% จาก Air Freight นอกนั้นก็จะเป็นการให้บริการคลังสินค้า และให้บริการด้านพิธีการศุลกากร ปีที่ผ่านมาลีโอ โกลบอลกรุ๊ปมีรายได้ประมาณ 1,200 ล้านบาท ปีนี้ตั้งเป้าไว้โต 15% ซึ่งครึ่งปีแรกเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วขยายตัวประมาณ 14% ยังต้องลุ้นในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ว่าจะทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่”

 

แข่งเดือดบริการผ่านแอพฯ

เกตติวิทย์ ยังฉายภาพธุรกิจให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศว่า มีผู้เล่นหรือให้บริการในตลาด 2,000-3,000 บริษัท ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกของ TIFFA  มีกว่า 250 บริษัท(ส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 50%ของตลาดรวม) เป็นบริษัทให้บริการโลจิสติกส์ของคนไทย รวมถึงเป็นบริษัทร่วมทุนกับต่างชาติ ซึ่งมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น และส่วนใหญ่จะแข่งขันด้านราคา ในส่วนของบริษัทได้มุ่งเน้นเรื่องคุณภาพ และมาตรฐานการให้บริการ รวมถึงล่าสุดได้พัฒนาโปรแกรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีโมบายแอพพลิเคชันชื่อว่า “Book LEOY” (บุ๊กเลย) ที่ช่วยให้ลูกค้าทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าสามารถจองบริการขนส่งสินค้าผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเลตได้ ช่วยลดต้นทุนได้ในระยะยาว และช่วยลดปริมาณงานของพนักงาน เนื่องจากขั้นตอนการทำบุ๊กกิ้ง สะดวกมากขึ้น ขณะที่คู่แข่งหลายบริษัทก็ได้เร่งพัฒนาการแอพพลิเคชันเพื่อให้บริการในรูปแบบใหม่ๆ

สำหรับลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทส่งออก-นำเข้าของคนไทยสัดส่วน 60% และอีก 40% เป็นบริษัทร่วมทุนกับต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป โดยตลาดที่บริษัทให้บริการมากสุดยังเป็นเอเชีย ตามด้วยอเมริกา แคนาดา และยุโรป ทั้งนี้บริษัทข้ามชาติที่เป็นลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทร่วมทุนกับคนไทยที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ  ขณะที่อีกหนึ่งจุดแข็งของบริษัทคือ มีตัวแทน(เอเยนต์)ที่มีศักยภาพสามารถให้บริการลูกค้าได้ใน 190 ประเทศ

“ความท้าทายของเราคือจะทำอย่างไรให้เรามีเอเยนต์ มีเน็ตเวิร์กที่แข็งแกร่งในต่างประเทศที่จะสามารถให้บริการลูกค้าได้ตามที่คาดหวัง ดังนั้นจึงต้องมีการลงทุนในเรื่องการหาเน็ตเวิร์กในต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา และผมกล้าพูดได้ว่า ลีโอฯ เราลงทุนในเรื่องนี้มากที่สุดในประเทศไทย”

 

อย่างไรก็ดีจุดอ่อนการทำการค้าของไทยปัจจุบันมีการทำการค้าอย่างจริงจังกับทั่วโลกไม่เกิน 50 ประเทศ โดยคู่ค้าหลักยังเป็นคู่ค้าเดิมๆ เช่น ยุโรป อเมริกา เอเชีย แต่ ยังมีตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก เช่น  แอฟริกา ลาตินอเมริกา รวมถึงตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีหลายมลรัฐที่ผู้ส่งออกไทยยังเข้าไม่ถึง ที่ผ่านมายังทำตลาดแค่ฝั่งตะวันตก (West Coast) และฝั่งตะวันออก(East Coast) เช่น ลอสแองเจลีส ซานฟรานซิสโก นิวยอร์ก ชิคาโก เป็นต้น รวมถึงตลาดจีนก็ยังมีโอกาสเจาะตลาดเมืองรองได้อีกมาก

“ภาพรวมธุรกิจรับจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศ ปีนี้ยังน่าห่วงจากมีปัจจัยเสี่ยงหลักจากสงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อ ส่วนตัวมองเป็นปีที่ต้องเตรียมตัวสำหรับปีหน้าอย่างมาก ผมว่าปีหน้าจะรุนแรงมากกว่านี้ ดังนั้นนักธุรกิจทุกคน 1. ต้อง Alert อยู่ตลอดเวลา 2. ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มากที่สุดจากเทคโนโลยียุคใหม่ที่เข้ามา ไม่เช่นนั้นเราจะโดน Disrupt (ภัยคุกคาม) แทน”

อนึ่ง บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด(มหาชน)เป็น 1 ใน 3 บริษัทที่ได้รับรางวัลผู้ประกอบการที่มีความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ประจำปี 2562 (ELMA 2019) ในสาขาผู้ให้บริการตัวแทนในการจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างปะเทศ กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,504 วันที่ 12-14 กันยายน 2562

                    เฟรต ‘ฟอร์เวิร์ดเดอร์’ แข่งเดือด  สงครามการค้าทุบยอดหด