กบง.ล้มดีลปิโตรนาสแสนล. ยกเลิกนำเข้า LNG 1.5 ล้านตัน

30 ส.ค. 2562 | 11:56 น.

กบง.ไฟเขียวยกเลิกประมูลนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตันต่อปี ของกฟผ. ชี้ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า พร้อมดันพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ดึงกองทุนอนุรักษ์พลังงานและกองทุนพัฒนาไฟฟ้าช่วยขับคเลื่อน

 

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า กบง.ได้มีการหารือถึงการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตันต่อปี ที่ดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) โดยมีมติให้ยกเลิกการประมูลที่มีก่อนหน้านี้ ที่บริษัท ปิโตรนาส แอลเอ็นจี ของมาเลเซีย เสนอมาในราคาต่ำสุด จากจำนวนผู้ยื่นประมูล 12 ราย เพื่อไม่ให้เกิดภาระค่า  Take or Pay จากการนำเข้าแอลเอ็นจี ที่จะต้องไปลดสัดส่วนการนำเข้าของสัญญาบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่มีอยู่ 5.2 ล้านตันต่อปี

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเปิดทดลองนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีเสรี และมีการแข่งขันนำเข้ามากขึ้น ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560  กบง.จึงมอบหมายให้กฟผ.ไปจัดซื้อแอลเอ็นจีในลักษณะ Spot แทน และให้นำประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงสร้างราคาก๊าซฯ หลักเกณฑ์การสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า เสนอต่อ กพช. พิจารณา ส่วนการไปเจรจาสัญญากับบริษัทปิโตรนาส ได้มอบหมาย ให้ กฟผ. ไปเจรจา และการบริหารจัดการเรื่องสัญญาการใช้  LNG Terminal และท่อส่งก๊าซ มอบหมาย ให้คณาะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน( กกพ.)  ปตท. กฟผ. ไปดำเนินการและให้นำเสนอกบง. ต่อไป


กบง.ล้มดีลปิโตรนาสแสนล. ยกเลิกนำเข้า LNG 1.5 ล้านตัน

ทั้งนี้ การจัดหาแอลเอ็นจีของประเทศยังเพียงพอ เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ก๊าซฯไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นตามที่ได้ประมาณการไว้ ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีในช่วงนี้  ที่สำคัญหากกฟผ.ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีก็ไม่ควรส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าและต้องไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay และอาจมีความจำเป็นต้องพิจารณาทบทวนการแบ่งราคาแอลเอ็นจีเป็น 2 Pool และข้อจำกัดของกฎหมายในกรณีที่ กฟผ. จะนำแอลเอ็นจีไปจำหน่ายในตลาดอื่นก่อนดำเนินการต่างๆ จากการพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องแล้ว กบง. จึงมีมติเห็นชอบข้างต้น แต่ทั้งนี้ยังคงคำนึงถึงแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ เพื่อรักษาผลประโยชน์และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชนในภาพรวม

 

มีรายงานว่า หากเปิดให้มีการนำเข้าแอลเอ็นจีในช่วงปี 2562-2563 ที่จะเริ่มล็อดแรกในเดือนกันยายนนี้ จะส่งผลต่อค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่าราว 1.9 พันล้านบาท หรือราว 2.1-2.4 สตางค์ต่อหน่วย โดยมูลค่าการนำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 8 ปี

กบง.ล้มดีลปิโตรนาสแสนล. ยกเลิกนำเข้า LNG 1.5 ล้านตัน

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบแนวนโยบายการพัฒนาด้านพลังงานสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและทิศทางพลังงานโลก ที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable) ให้พลังงานมีต้นทุนราคาเป็นธรรม และประชาชนสามารถเข้าถึงได้ (Affordable) ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างกลไกให้ชุมชนมีส่วนร่วมด้านพลังงาน และสร้างรายได้ให้กับชุมชนในระดับฐานรากของประเทศ (Energy For All) โดยมีแนวนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานรากในด้านพลังงานไฟฟ้าด้วยการส่งเสริมให้มีโรงไฟฟ้าชุมชน ตามพื้นที่ที่มีศักยภาพพลังงานหมุนเวียนทั่วประเทศที่สามารถส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชน และสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่นั้นๆ และ มีระบบส่งและระบบจำหน่ายที่สามารถรองรับไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าชุมชนได้

 

อีกทั้ง จะมีงบประมาณสนับสนุน โดยเปิดให้มีการใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในการสนับสนุนการลงทุนหรืออุดหนุนการดำเนินกิจการของโรงไฟฟ้าชุมชน โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมลงทุนโรงไฟฟ้ากับภาครัฐและ/หรือเอกชน เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนตามเป้าหมายแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนหรือ AEDP และสอดคล้องแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือ PDP2018 ตามศักยภาพพื้นที่ อาทิ พืชพลังงาน พลังงานแสงอาทิตย์ สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ ราคารับซื้อกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด มีผลประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ส่วนลดค่าไฟฟ้า ส่วนแบ่งผลกำไรจากการดำเนินงาน รายได้จากการขายเชื้อเพลิงจากวัสดุทางการเกษตร

 

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าชุมชนมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกินปี 2565 ก่อให้เกิดการเสริมสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานราก ตามนโยบาย “Energy For All” และให้นำเสนอต่อ กพช. ต่อไป

กบง.ล้มดีลปิโตรนาสแสนล. ยกเลิกนำเข้า LNG 1.5 ล้านตัน