“เทรดวอร์”ทะลุปรอทแตก!! ทุบส่งออกไทย -2% จีดีพีต่ำกว่า 3%

25 ส.ค. 2562 | 05:49 น.

สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนทะลุจุดเดือด ม.หอการค้าไทย ฟันธงจีดีพีโลกสู่ภาวะถดถอย โอกาสขยายตัวแค่ 2% กระทบชิ่งลงทุนทั่วโลกชะลอตัว บีบทุกประเทศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดดอกเบี้ย ทำค่าเงินอ่อนสู้ศึก ส่งออกไทยคาด -2% จีดีพีต่ำกว่า 3% จี้รัฐเร่งทำแผนส่งออกและเศรษฐกิจรับมือปีหน้าที่คาดจะมีผลกระทบมากกว่าปีนี้

 “เทรดวอร์”ทะลุปรอทแตก!! ทุบส่งออกไทย -2% จีดีพีต่ำกว่า 3%

จากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่เพิ่มอุณหภูมิเดือดมากขึ้นทุกขณะโดยล่าสุด สหรัฐฯ ประกาศ 1.จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มจาก 25% เป็น 30% ของมูลค่าสินค้า 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562  และให้บริษัทสหรัฐฯ หยุดทำธุรกิจกับประเทศจีน  2. สหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 300,000  ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมที่กำหนด 10% เป็น 15% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562

 

 

ขณะที่ 3. จีนจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มอีก 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 5,078 รายการแบ่งเป็นสินค้าเก็บภาษี 5-10% กำหนดการเก็บครั้งที่ 1 ในวันที่ 1 กันยายน 2562 และครั้งที่ 2 ในวันที่ 15 ธันวาคม 2562 4.จีนเก็บภาษี 5% น้ำมันสหรัฐฯ ที่เข้ามาในจีน เริ่ม 1 ธันวาคม 2562 และ 5.จีนเก็บภาษีรถยนต์สหรัฐฯ และชิ้นส่วน  ระหว่าง 5-25% เริ่ม 15 ธันวาคม 2562

รศ.ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สงครามการค้าที่ทะลุถึงจุดเดือดในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกคือ 1.เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะเข้าสู่ภาวะถดถอยแน่นอน มีโอกาสเห็นเศรษฐกิจ(GDP) โลก ปีนี้ขยายตัวต่ำกว่า 2% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะโต 3% 2.ดัชนีราคาสินค้าจากทั่วโลกจะปรับตัวลดลง 3.การลงทุนเอกชนของประเทศต่าง ๆ ชะลอตัวลง 4.รัฐบาลทั่วโลกจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มค่าใช้จ่ายภาครัฐ อัตราดอกเบี้ยลดลง อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลง

 “เทรดวอร์”ทะลุปรอทแตก!! ทุบส่งออกไทย -2% จีดีพีต่ำกว่า 3%

                                          รศ.ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช

 ส่วนผลกระทบกับภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทยคือ 1.คาดว่าปี 2562 อัตราการขยายตัวการส่งออกของไทย -2%  2.กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบยังเป็นกลุ่มเดิม แต่จะได้รับผลกระทบมากขึ้น 3.นโยบายอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน และการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ เป็นเรื่องจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน 4.คาดการณ์ว่า GDP ไทยน่าจะมีโอกาสต่ำกว่า 3%  

“ข้อเสนอแนะคือไทยควรจัดทำแผนการส่งออกและเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานะการณ์เศรษฐกิจโลกในปีหน้าที่จะมีผลกระทบมากกว่าปีนี้ และระวังไตรมาส 4 ของปีนี้ เศรษฐกิจและการส่งออกจะชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้นไทยต้องวิเคราะห์ว่าห่วงโซ่อุตสาหกรรมและเกษตรจากกลุ่มสินค้าที่ทั้งสองประเทศเก็บภาษีซึ่งกันและกันไทยมีสัดส่วนเท่าไร เพราะจะเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคของไทย”