รัฐหนุนมาตรการ รับมือสังคมผู้สูงวัย

26 ส.ค. 2562 | 23:40 น.

นักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าประชากรผู้สูงอายุของไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นเป็น 13 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศในปี 2563 ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวส่งผลให้ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ หลังจากเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมาตั้งแต่ปี 2548 สอดคล้องกับสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุของโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 900 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2,000 ล้านคน ในปี 2593 เพิ่มสัดส่วนจาก 12% เป็น 22% ของจำนวนประชากรโลกทั้งหมด

แนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเร่งผลักดันมาตรการออกมาส่งเสริม สนับสนุน และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้การนำของ “วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ออกมาตรการรับมือการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างต่อเนื่องในหลายภาคส่วน โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ให้ได้มาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล เริ่มตั้งแต่การอบรม “ปฏิบัติการพิชิตธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ” ในช่วงที่ผ่านมา ด้วยต้องการรองรับกลุ่มผู้สูงวัยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมทั้งผลักดันสู่การเป็นศูนย์กลางด้าน Home Care ในอนาคต

ขณะที่กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีมาตรการรองรับสังคมผู้สูงวัยด้วยการสร้างเว็บไซต์ ‘Smart  Job Center’ เพื่อช่วยในการค้นหางานรับตำแหน่งงานว่างบุคคลทั่วไป คนพิการ ผู้สูงอายุ ด้วยวัตถุประสงค์หลักคือต้องการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ การจัดสวัสดิการ และการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ ผ่านนโยบายในการพัฒนางานวิชาการด้านมาตรการ กลไก องค์ความรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการธนาคารเวลา โครงการจิตอาสาให้ชุมชนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น จิตอาสาซ่อมบำรุง งานบริการอำนวยความสะดวกเป็นต้น หรือโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ มาตรการให้เงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย เป็นต้น

 

นอกจากมาตรการข้างต้นการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยยังส่งผลให้เกิดธุรกิจดูแลผู้สูงอายุรูปแบบใหม่เกิดขึ้นมากมายจนมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี และมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลิตภัณฑ์ที่เปิดตัวมากมายในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อรองรับแนวโน้มการเติบโตดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจดูผู้สูงวัยที่กำลังได้รับความนิยม และมีผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามามากมายซึ่ง 5 อันดับธุรกิจที่มาแรง ประกอบด้วย บ้านพักคนชรา สถานบริการช่วยเหลือในการดำรงชีวิตสถานบริบาล สถานดูแลระยะยาวในโรงพยาบาล และสถานดูแลระยะสุดท้าย โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทยแล้วกว่า 800 ราย แต่ในความเป็นจริงมีมากกว่านี้ เนื่องจากไม่มีข้อกฎหมายบังคับให้ธุรกิจนี้ต้องขึ้นทะเบียน แบ่งเป็นนิติบุคคล 273 ราย หรือคิดเป็น 34.125% และบุคคลธรรมดา 527 ราย หรือ 65.875%

ไม่เพียงแต่กลุ่มธุรกิจดังกล่าว หากแต่เป้าหมายในอนาคตหน่วยงานภาครัฐของไทย โดย “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” ยังมุ่งเป้าการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัยให้เติบโตได้อย่างมีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ อสังหาริมทรัพย์ ประกันภัย ประกันชีวิต รักษาพยาบาล ฟื้นฟูสุขภาพและความงาม ศัลยกรรม โรงแรมที่พัก เป็นต้น เรียกว่าหากมีการพัฒนาศักยภาพที่ถูกทางสังคมผู้สูงวัยคืออีกหนึ่งขุมทรัพย์และโอกาสทอง ของผู้ประกอบธุรกิจได้เป็นอย่างดี 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,499 วันที่ 25 - 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562

รัฐหนุนมาตรการ  รับมือสังคมผู้สูงวัย