ชิงปล่อยกู้ รายได้เกิน3หมื่น รับเกณฑ์คุมสินเชื่อรายย่อย

27 ส.ค. 2562 | 11:35 น.

 

แบงก์-นอนแบงก์-สหกรณ์ออมทรัพย์ ปรับเกณฑ์หนุนธปท.คุมสินเชื่อรายย่อย ห่วงหนี้ค้างชำระและความสามารถในการผ่อนจ่ายกลุ่มเกษตร กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอ

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะปิดรับฟังความคิดเห็นเกณฑ์ควบคุมการปล่อยสินเชื่อรายย่อยจากธนาคารพาณิชย์ภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อนำมาบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2563 เพื่อแก้ปัญหาการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน ซึ่งมีีรายงานเบื้องต้นว่า ธปท.ต้องการเห็นสัดส่วนหนี้ต่อรายได้(DSR)ไม่เกิน 70% สำหรับกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มที่มีความเปราะบางคือ กลุ่มที่มีรายได้ตํ่ากว่า 3 หมื่นบาท กลุ่มที่จะเกษียณอายุ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นทำงาน ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ราว 10% ถือว่าค่อนข้างสูง DSR ที่เหมาะสมจึงไม่ควรเกิน 40% ส่วน DSR ที่ไม่เกิน 70% นั้นธปท.ต้องการผ่อนเวลาให้ระบบได้ปรับตัวจากนั้นจะค่อยๆปรับ DSR ลง 5-10% เพื่อไม่ให้เป็นภาระสำหรับวัยเกษียณไปแล้ว

ส่วนของรายได้จะพิจารณาละเอียดมากขึ้น เพื่อสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ เช่น ถ้าเป็นเกษตรกรต้องดูประเภทพืชหรือผลผลิตและราคาต่อไร่ ไม่ว่าจะเป็นมันสำปะหลัง ยางพารา หรือร้านขายก๋วยเตี๋ยว รวมถึงความเป็นเจ้าของหรือส่วนแบ่งที่จะได้รับต่อปี

 

ชิงปล่อยกู้  รายได้เกิน3หมื่น  รับเกณฑ์คุมสินเชื่อรายย่อย

วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์

 

ธปท.ต้องการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินและสังคม ไม่ใช่ทำแล้วแบงก์อยู่รอด แต่คนกู้เป็นหนี้สินไม่รู้จบ ซึ่งในแง่การทำตลาด ทุกคนต้องหากลุ่มที่มีรายได้เกิน 3 หมื่นบาทต่อเดือนหรือกลุ่มที่มีเงินเดือนผ่านบัญชีของแบงก์หรือ PayRoll เพื่อหารายได้จากการปล่อยสินเชื่อแทนแหล่งข่าวกล่าว

นายโชค ระนอง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการสายบัตรเครดิต ธนาคาร กรุงเทพ เปิดเผยว่า การคำนวณ DSR ของธนาคารส่วนใหญ่จะดูข้อมูลประวัติเครดิตจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติฯ (เอ็นซีบี) เพื่อทำให้รู้ว่า ลูกค้ามีภาระหนี้กับคนอื่นเท่าใด แต่ถ้าไม่มีประวัติในเอ็นซีบีจะอนุมัติยากเช่นเดียวกับรายที่ไม่เคยมีประวัติกับธนาคาร ก็จะตก Score ของธนาคาร ซึ่งธนาคารต้องการเพิ่มฐานลูกค้าในกลุ่มที่มีรายได้ 2-3 หมื่นบาทขึ้นไป แต่ก็ให้ความสำคัญกับกรณีที่มีรายได้ต่อเดือน 1.5 หมื่นบาท โดยเฉพาะรายที่เดินบัญชีเงินเดือนกับธนาคาร

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดี กรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวว่า ในส่วนของสหกรณ์ออมทรัพย์อยู่ระหว่างหารือประเด็นปลีกย่อยกับธปท.และกระทรวงการคลัง เพื่อระบุในกฎกระทรวงมาตรา 89/2(4) เรื่อง การก่อหนี้ไม่เกิน 70%ของรายได้ รวมถึงปรับลดงวดของการชำระหนี้ กรณีการกู้สามัญที่ใช้บุคคลคํ้าประกัน จะเสนอชำระหนี้จากเดิม 240-300 งวดเหลือไม่เกิน 180 งวด ส่วนการกู้พิเศษ เพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งใช้หลักทรัพย์คํ้าประกันให้ชำระไม่เกิน 360 งวด พร้อมกำหนดอายุผู้กู้ไม่เกิน 70 ปี ยกเว้นกู้ไม่เกินวงเงินฝากหรือไม่เกินมูลค่าหุ้นในสหกรณ์ออมทรัพย์จะไม่กำหนดอายุ

ชิงปล่อยกู้  รายได้เกิน3หมื่น  รับเกณฑ์คุมสินเชื่อรายย่อย

นอกจากนั้นยังมีเรื่องสัดส่วนการลงทุนประมาณ 30-50% ซึ่งอยู่ระหว่างหารือเพิ่มเติม ส่วนประเด็น Search For Yield ที่ธปท.เป็นห่วงนั้น ได้รับนโยบายจากท่านอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ออมทรัพย์ให้เข้าไปดูไส้ในและพยายามหาทางแก้ไขอยู่ 5 แห่งที่ลงทุนเกิน 60% จากสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง 37 แห่ง

 

ทั้งนี้เกณฑ์ใหม่จะกำหนดกรอบสมาชิกสมทบเฉพาะบุคคล 5 ชั้นที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกสหกรณ์ คือ บิดา มารดา สามี ภรรยาและบุตรเท่านั้น โดยประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ฯมาตรา 44 พระราชบัญญัติสหกรณ์ออมทรัพย์แก้ไขใหม่ ซึ่งจะออกประกาศภายในเดือนสิงหาคมนี้ จะลดปัญหาบุคคลภายนอกมาหารายได้ดอกผลจากสหกรณ์ออมทรัพย์ด้วย

เกณฑ์ต่างๆ เราต้องทำให้เสร็จในระยะเวลาใกล้เคียง เพื่อล้อและเดินไปพร้อมกับธปท. สิ่งสำคัญต้องสร้างวินัยและวางแผนทางการเงิน ไม่เช่นนั้นธปท.คุมแบงก์ได้ แต่ปัญหาจะมาโผล่ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของธปท.ส่วนเกณฑ์คำนวณรายได้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ ต่อไปจะระบุไว้ในกฎกระทรวงชัดเจนเช่น ค่าสอน ค่าทำงานวิจัย หรือเงินพิเศษ เบี้ยเสี่ยงภัยโดยจะใช้ประกอบการพิจารณาด้วย

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด(มหาชน)(MTC) กล่าวว่า เกณฑ์คุมรายย่อยของธปท.นั้นจะกำกับทั้งระบบ เพียงแต่จะเริ่มจากธนาคารพาณิชย์ก่อน ซึ่งในส่วนของนอนแบงก์กังวลเรื่อง ความสามารถชำระหนี้ในอนาคต เพราะครึ่งปีแรกพบว่า มีหนี้ค้างชำระตั้งแต่ 1-3 เดือน ซึ่งบริษัทต้องกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและทำให้ความสามารถในการทำกำไรลดลง โดยไตรมาส 2 บริษัทกันสำรองฯแล้ว 1,600 
ล้านบาทคิดเป็น 275% และระหว่างไตรมาสยังกันสำรองฯต่อเนื่อง

ไตรมาส 3 จะคัดกรองลูกค้ามากขึ้น เช่น กลุ่มเกษตรถ้ามีรายได้ 1 แสนบาทต่อปีจะก่อหนี้ไม่เกิน 7 หมื่นบาท คาดว่า จะปล่อยสินเชื่อใหม่และลูกหนี้คงค้างอยู่ที่ 25-30% จากครึ่งปีแรกทำได้ตามเป้า 30-35% แต่กำไรลดลงทั้ง 2 ไตรมาสคือ ไตรมาสแรก 20% และไตรมาส2 12% จึงกังวลภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือ

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,499 วันที่ 25-28 สิงหาคม 2562

ชิงปล่อยกู้  รายได้เกิน3หมื่น  รับเกณฑ์คุมสินเชื่อรายย่อย