รุมกดดันกทพ.แก้รถติดหนักสร้าง ‘ด่วนชั้น2’

27 ส.ค. 2562 | 03:45 น.

BEM มั่นใจรถติดหนัก ดันคนใช้ทางกดดันกทพ.เร่งยื่นอีไอเอจนผ่าน สร้าง “ด่วนขั้น 2” บรรเทาเดือดร้อน ขยายสัมปทาน 30 ปี แลกหนี้แสนล้าน ยุติทุกคดี ดีเดย์ 26 ส.ค.หารือร่วมคณะทำงานข้อพิพาท ก่อนชงครม.ไฟเขียว

ปมข้อพิพาทคดีทางด่วนขั้น 2 และ ทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ดระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM น่าจะนำไปสู่ข้อยุติและพิจารณาขยายสัมปทาน 30 ปี หลัง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการให้ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาข้อพิพาทสัมปทานทางด่วน เชิญ BEM หาข้อสรุปร่วมกัน วันที่ 26 สิงหาคม 2562 ก่อนนำข้อมูลที่ได้ส่งให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้ขาดและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ท่ามกลางความคับคั่งของผู้ใช้ทาง1ล้านคันเศษๆต่อวันบนทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วน ABC และ D) ส่วนที่ BEM รับสัมปทาน

ทั้งนี้หากจะแก้ปัญหาด้วยวิธีเวนคืนสร้างเส้นทางเพิ่มคงเป็นไปได้ยาก ทางออกเพื่อบรรเทาปริมาณจราจรจึงเป็นที่มาของทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) ตามข้อตกลงเดิมที่กทพ.ให้ BEM ลงทุนสร้างทางยกระดับอีกชั้นบนทางด่วนเดิมภายใต้เงื่อนไขกทพ.ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตลอดจนเจรจาหาพื้นที่ปักเสาตอม่อบนพื้นที่กทพ.เองหรือที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร BEM ยํ้าว่าจากปัญหารถติดใจกลางเมืองทวีความรุนแรงลุกลามไปทุกเส้นทาง จึงเป็นตัวเร่งให้กทพ. พิจารณาสร้างทางชั้นที่ 2 จากการถูกกดดันโดยผู้ใช้ทาง จึงมั่นใจว่า อีไอเอจะผ่าน เพราะที่ผ่านมา เคยมีตัวอย่างกรณี BEM เคยมีประสบการณ์สร้างทางด่วนชั้นที่ 2 บริเวณคลองเตยมาแล้วเพียงแต่มีระยะสั้นๆ เพียง 1 กิโลเมตร

รุมกดดันกทพ.แก้รถติดหนักสร้าง ‘ด่วนชั้น2’

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาจราจรโดยลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) เพิ่มพื้นที่ผิวจราจรเริ่มจากถนนงามวงศ์วานมุ่งหน้าลงใต้ถึงต่างระดับพญาไท จากนั้นเลี้ยวไปทางตะวันออกสิ้นสุดบริเวณพระราม 9 ระยะทาง 17 กิโลเมตรโดยไม่มีปัญหาตัดกระแสจราจรสามารถวิ่งระยะทางไกลจากต้นทางถึงปลายทางโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที หากเทียบกับทางด่วนที่ใช้ปัจจุบันทุกเส้นทางต้องมากองรวมกัน บริเวณใจกลางเมืองกว่าจะฝ่าการจราจรออกไปได้ต้องใช้เวลาไม่ตํ่ากว่า 2-3 ชั่วโมง นอกจากนี้จะก่อสร้างช่อง บายพาสแก้จุดตัดจราจรบริเวณอโศก 2 จุดขยายพื้นผิวจราจรบริเวณมักกะสันและพระราม 6 อีก 2 จุดรวมมูลค่า 3.1 หมื่นล้านบาท

 

ตัวอย่างปัญหาจราจรบนระบบทางด่วนปัจจุบัน เริ่มจากงามวงศ์วานเข้าด่านประชาชื่น ผ่านจตุจักร จะมีรถจากหมอชิต 2 ส่วนขาเข้าเข้ามาสมทบ จากนั้นจะเจอรถที่มาจากต่างระดับ พญาไท (บริเวณโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ), อนุเสารีย์ชัยฯ, อโศก-มนตรี เข้ามาสมทบบริเวณ มักกะสัน และเมื่อจ่ายค่าผ่านทางรถเคลื่อนผ่านด่านอโศก จะเจอปริมาณรถจากพระราม 9 เข้ามาสู่เส้นทางยังไม่รวมรถจากสีลม อีกมหาศาล ฯลฯ

ขณะแนวทางขยายผิวจราจร 2 แห่งจะแก้ปัญหาจุดคอขวดบริเวณทางลงเพลินจิตช่วงหน้าโรงแรมอีสติน และทางไปยมราชบริเวณหน้ากระทรวงการคลัง ส่วนการจัดเก็บค่าผ่านทาง ไม่เก็บเพิ่ม เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน แต่บริษัทต้องรับผิดชอบความเสี่ยงในรายได้จากปริมาณการใช้รถที่ต้องลดลงจากนโยบายส่งเสริมระบบขนส่งทางรางของรัฐบาล โดยต้องแบ่งรายได้ให้ กทพ.ตามสัญญา แต่เนื่องจากการก่อสร้าง Double Deck ต้องรอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านความเห็นชอบก่อน กทพ.จึงแบ่งสัญญาเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เพื่อยุติ ข้อพิพาท (ขยายสัญญาจนถึง ต.ค.2578) และส่วนที่ 2 การก่อสร้าง Double Deck (ขยายสัญญาออกไปจนครบ 30 ปี) ซึ่งลงนามสัญญาเมื่อรายงาน EIA 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3499 ระหว่างวันที่ 25 - 28 สิงหาคม 2562