GPSC โชว์รายได้ Q2 พุ่ง19,990ล้านบาท.

07 ส.ค. 2562 | 06:22 น.

GPSC สร้างผลประกอบการ Q2 โตต่อเนื่อง รายได้พุ่ง 19,990 ล้านบาทเพิ่ม 203% จากการรับรู้รายได้ทันทีหลังเข้าซื้อกิจการ GLOW เต็มไตรมาสครั้งแรก พร้อมเดินหน้าแผนเพิ่มทุนสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน  ลุยลงทุนโครงการใหม่ พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงาน รับการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานไฟฟ้า และตลาดพลังงานทดแทนของประเทศ

ชวลิต ทิพพาวนิช นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) (บมจ.)หรือ GPSCแกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่มปตท.เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รายงานผลประกอบการไตรมาส 2/2562 โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 19,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,923 ล้านบาท หรือคิดเป็น 120%  เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2562  ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิที่ไม่รวมผลของการตัดจำหน่ายส่วนต่างมูลค่ายุติธรรมที่เทียบกับมูลค่าทางบัญชีของ บมจ.โกลว์ พลังงาน หรือ GLOW ในการเข้าซื้อกิจการทั้งสิ้น 1,441 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 499 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 53% จากไตรมาส 1/2562ซึ่งเป็นผลมาจากการรับรู้รายได้ของ GLOWเต็มไตรมาสเป็นครั้งแรก

สำหรับผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 2562  บริษัทฯ มีผลประกอบการที่เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของรายได้และกำไร โดยมีรายได้ทั้งสิ้น 29,057 ล้านบาท เพิ่มขึ้น16,728ล้านบาท  โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 136%  ซึ่งเป็นผลจากการรับรู้ผลประกอบการของGLOW นับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2562หลังการเข้าซื้อกิจการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ มีรายได้แต่ละโรงไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งจากศูนย์ผลิตสาธารณูปการ และโรงไฟฟ้าของ GPSCและ GLOW

ในส่วนของความคืบหน้าแผนการเข้าซื้อกิจการ GLOW ปัจจุบันGPSC เข้าถือหุ้นแล้วทั้งสิ้น 95.25% และจากมติคณะกรรมการGPSC ที่ได้อนุมัติแผนการเพิกถอนหลักทรัพย์ของ GLOW ออกจากหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้ทำหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อทำ Tender Offer เพื่อซื้อหุ้นที่เหลืออีก 4.75%  จากระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในเดือนธันวาคม 2562

ทั้งนี้ ในการซื้อกิจการ GLOW บริษัทฯ ได้มีแผนปรับโครงสร้างทางการเงินใหม่ เพื่อให้ฐานการเงินแข็งแกร่งมากขึ้นพร้อมรองรับการลงทุนโครงการที่มีอยู่ และโครงการที่จะดำเนินการในอนาคต ควบคู่ไปกับการทำ Synergyร่วมกันของทั้งสองบริษัท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการต้นทุน  ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อขออนุมัติผู้ถือหุ้น จำนวน7.4 หมื่นล้านบาท

โดยบริษัทฯ จะดำเนินการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน1,321.43 ล้านหุ้น เสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering: RO) ในอัตรา1หุ้นเดิมต่อ0.8819 หุ้นใหม่  สำหรับส่วนลดแก่ผู้ถือหุ้นประมาณ 20% ซึ่งทำให้การกำหนดราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวเท่ากับ 56 บาทต่อหุ้นนั้น คิดจากราคาถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของหุ้นของบริษัทฯ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ย้อนหลัง 30 วันทำการ ก่อนวันที่คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2562 (ระหว่าง 13 มิ.ย.- 25 ก.ค. 2562) ให้เสนอวาระดังกล่าวต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณา ซึ่งเท่ากับประมาณ 70 บาท (ข้อมูลจาก SETSMART ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) โดยจะเสนอในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2562 พิจารณาอนุมัติในวันที่28 ส.ค. 2562 โดยจะกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Record Date) วันที่ 4 ก.ย.2562 และเปิดให้ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนระหว่างวันที่30 ก.ย.– 4 ต.ค. 2562  

การเพิ่มทุนดังกล่าว ทำให้บริษัทฯ มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E)ที่ลดลงเหลือ 0.8 เท่า ส่งผลให้บริษัทฯ มีขีดความสามารถในการหาแหล่งเงินทุนในรูปแบบต่างๆ   เพื่อเตรียมความพร้อมการลงทุนที่จะเกิดขึ้น ทั้งโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และโครงการทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานไฟฟ้ารองรับการขยายตัวของการใช้ไฟฟ้าทั้งจากภาคอุตสาหกรรม และตลาดการพัฒนาพลังงานทดแทนใหม่ๆของไทยที่จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นตามแผนการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2018)

สำหรับกำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ โครงการใหม่ที่จะดำเนินการในเชิงพาณิชย์ (COD)ในปี 2562 และปี 2563ประกอบด้วย 4 โครงการ 1.โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำลิก 1 (NL1PC) ประเทศ สปป.ลาว กำลังการผลิต 65 เมกะวัตต์ ซึ่ง GPSC ถือหุ้น 40% เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อ 1 ก.ค.25622.โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี (XPCL) กำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ ประเทศ สปป.ลาว ซึ่ง GPSC ถือหุ้น 25% คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 4 ปี 25623.ศูนย์ผลิตสาธารณูปการแห่งที่ 4 จังหวัดระยอง (CUP 4) กำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 70 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 2562 และ4.โครงการโรงไฟฟ้าของบริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด (NNEG) ส่วนขยาย กำลังการผลิตส่วนเพิ่ม 60 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 10 ตันต่อชั่วโมง ซึ่ง GPSC ถือหุ้น 30% คาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2563