บอร์ดอีอีซี ประชุมนัดแรก ผลักดัน 4 นโยบายหลักขับเคลื่อน

05 ส.ค. 2562 | 10:37 น.

บอร์ดอีอีซี นัดแรก สกพอ.ชง  4 นโยบายหลักขับเคลื่อนอีอีซี  ทั้งเร่งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี เร่งการยกระดับพื้นฐานด้านสังคม ยกระดับปัจจัยพื้นฐานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน และด้านการสร้างความมีส่วนร่วม

 

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยหลัการประชุมว่า ในการประชุมกพอ.มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 5 สิงหาคม 2562เนื่องจากเป็นการประชุมกพอ.นัดแรกของรัฐบาลชุดนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) จึงได้รายงานความเป็นมา ความก้าวหน้าด้านต่างๆ ของอีอีซีที่ผ่านมา และแนวทางการดำเนินงานต่อไป เพื่อส่งเสริมการพัฒนาให้อีอีซีก้าวสู่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเอเชีย โดยแบ่งเป็น 4 นโยบายหลัก ดังนี้

นายคณิศ แสงสุพรรณ

1.เร่งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี โดยเร่งรัดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท/ปี มีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพร้อมจะเปิดให้บริการ One Stop Service โดย EEC OSS  ปลายเดือนสิงหาคมนี้  และจะเร่งขับเคลื่อนการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานกับเพื่อนบ้านและเอเชีย เพื่อลดต้นทุน Logistics ด้วยความเชื่อมโยงขนส่งทางกายภาพและระบบข้อมูลทันที โดยมีคณะทำงานจัดระบบเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน ( ECC ประเทศไทย - CLMV เอเชีย)

 

อีกทั้ง เร่งจัดการเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัล EECd และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเพื่อรองรับการลงทุนวิจัย และนวัตกรรม EECi ให้เป็นรูปธรรม โดยจะดำเนินการ PPP กับโครงการ EECd /ให้เป็นเมืองอัจฉริยะตัวอย่างและจุดดำเนินการ 5G และประสานภาคเอกชนให้เตรียมใช้บริการจาก EECi ให้เกิดประโยชน์สูงสุด   

 

บอร์ดอีอีซี ประชุมนัดแรก ผลักดัน 4 นโยบายหลักขับเคลื่อน

2.เร่งการยกระดับพื้นฐานด้านสังคม ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการศึกษาเพื่อสนองตอบความต้องการภาคการผลิตและบริการ การผลักดัน Demand Driven โดยร่วมกับกระทรวงแรงงาน ทำงาน retrain ระยะสั้นให้กับผู้ที่จะการศึกษา และผู้ทำงานในโรงงานให้ตรงกับเทคโนโลยีใหม่ และร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ผลักดัน อาชีวศึกษาตาม สัตหีบโมเดล และ ดึงเอกชนมาร่วมมือเต็มที่ โดยจะผลักดันมหาวิทยาลัยให้ปรับตัวเพื่อผลิตบุคคากรที่จบแล้วมีงานทำ มีรายได้สูง

 

ขณะที่ยกระดับด้านการสาธารณสุข ให้เป็นตัวอย่างกับกลุ่มประเทศอื่นๆ ซึ่งจะปรับระบบสาธารณสุขพื้นฐาน โดยร่วมมือกับเอกชน ในการลงทุนเพื่อให้บริการร่วมกับภาครัฐ  /จัดวางระบบ ศูนย์เฉพาะเชี่ยวชาญเฉพาะทางให้ครบถ้วน เพิ่มการลงทุน Medical Hub กับเอกชนชั้นนำทั่วโลก โดยเฉพาะด้าน Precision Medicine

 

3.ยกระดับปัจจัยพื้นฐานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน โดยจัดทำผังเมืองจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด ต่อจากผังการใช้ที่ดิน และดำเนินงานตามแผนสิ่งแวดล้อมที่วางไว้ และจัดระบบนำ Circular economy จัดทำฐานข้อมูลความเป็นอยู่ของประชาชน ด้านความเท่าเทียมกัน สิ่งแวดล้อม สุขภาพ เพื่อพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้น และการวางแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

 

4.ด้านการสร้างความมีส่วนร่วม โดยจะมีกองทุนอีอีซี เพื่อการทำงานร่วมกับชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล และประชาชน รวมถึงการทำงานร่วมกับ พรรคการเมือง รัฐสภา รัฐบาลท้องถิ่นและสื่อมวลชนในพื้นที่