เล่าเรื่องลูกอีกที ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา และในวัย 65 ปีของผม

28 ก.ค. 2562 | 07:49 น.

ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก เอนก เหล่าธรรมทัศน์ Anek Laothamatas เรื่อง "เล่าเรื่องลูกอีกที  ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา และในวัย 65 ปีของผม" โดยใจความระบุว่า 

เล่าเรื่องลูกอีกที  ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา และในวัย 65 ปีของผม

ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมขอเล่าเรื่องลูกสี่คนของผม เพื่อสะท้อนว่ามีครอบครัวหนึ่ง ที่อยู่ในพระบรมโพธิสมภารของธรรมราชาสองพระองค์ คือรัชกาลที่ 9 และ รัชกาลที่ 10 ได้เจริญเติบโตมาอย่างไร  ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

 

ความจริงผมและภรรยาใช้เวลาอยู่กับลูกศิษย์มากกว่าอยู่กับลูกๆ  ชีวิตและการงานของผมและภรรยานั้นมีคนรู้แล้วไม่น้อย การทำงานจนอายุ 65 นั้น ย่อมมีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ มีทั้งชัยชนะ-ผลงาน  มีทั้งอุปสรรค-ล้มเหลว  งานบางอย่างไม่เคยคิดว่าจะได้ทำ  แต่ที่คนไม่ค่อยรู้จักคือเรื่องของลูกเรา และสิ่งที่เราเองไม่เคยคิด คือ มีลูก เลี้ยงลูก ที่น่ารักได้ถึงสี่คน วันนี้จะขอเล่าถึงลูกอีกครั้ง ครับถือเป็นการ อัพเดท นิดหน่อย ในเรื่องครอบครัว 

ผมมีลูกสี่คนจากภรรยา ศ พญ จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ เป็นหญิง 2 เป็นชาย 2 เพราะความที่แต่งงานช้าและเรียนกันที่อเมริกานานเกือบ 9 ปี   ประกอบกับคิดว่ามีลูกเยอะจะเลี้ยงง่าย และเราสองคนยังสังเกตว่าคนสมัยใหม่นั้น หลายคนเลี้ยงลูกยาก เพราะมีลูกโทน พ่อแม่จึงต้องผลัดกันมาเล่นกับลูกเยี่ยงคนวัยเดียวกัน 

เล่าเรื่องลูกอีกที  ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา และในวัย 65 ปีของผม

แม่ผม ซึ่งทุกวันนี้ ท่านอายุ 96 ปีแล้ว ร่มโพธิร่มไทรของพวกเรา ท่านเคยสอนไว้ว่า แต่งงานแล้วรีบมีลูกเข้าไปเหอะ มีเยอะๆ นะ เลี้ยงลูกหน่ะไม่ยาก หรอก มีเยอะๆ จะดี เพราะพี่น้องเขาวัยใกล้กัน เขาจะเป็นเพื่อนเล่นกันเอง และพี่คนโตๆ ก็จะช่วยพ่อแม่ดูแลน้องเล็กๆ ได้

ผมกับหมอจิรพร เลยตัดสินใจ เมื่อเห็นว่าเวลาพร้อมแล้ว คือ เมื่ออายุ 34-35ใกล้จะจบการศึกษาและฝึกฝนที่อเมริกาแล้ว เรามีลูกสี่คน เริ่มในปี 2531 แต่ภายในสามปี มีลูกสี่คน ไปเลย ครับ ลูกคนสุดท้องเกิดกุมภาพันธ์ 2535 

 

ลูกคนแรก ความจริงคู่แรก เป็นแฝดหญิงชายนะครับ เกิดที่เมาร์เวอร์นอน นิวยอร์ค คนโตสุด ปัจจุบัน ก็ คือ พญ เขมรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ อายุ 30 จบปริญญาตรีที่ College of William and Mary ที่เวอร์จิเนีย มหาวิทยาลัยที่เก่าเป็นที่สองในสหรัฐอเมริกา เก่าแก่รองจาก Harvard  University เท่านั้น แล้วเธอก็ไปเรียนต่อ MD ( แพทย์ ) ที่ University of Virginia จากนั้นไปทำ Residency ทาง emergency medicine ที่ Jefferson University ตอนนี้เธอไปทำ Fellowship ต่อ อาจเป็นที่ Yale ครับ 

ลูกคนที่สอง คลอดติดตามพี่สาวมาภายในสองสามนาที ชื่อ เขตรัฐ คนนี้ จบ ไฮสกูลที่อเมริกาพร้อมพี่เขม จากนั้นก็จบป ตรีที่อเมริกา และ ป โท ที่ เมืองจีน ที่ มหาวิทยาลัยหนานคาย อันเป็นโรงเรียนเก่าของนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล  จบแล้ว เขตรัฐไปเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ 3-4 ปี ปัจจุบัน เป็น สส ระบบบัญชีรายชื่อ ของพรรครวมพลังประชาชาติไทย 

เล่าเรื่องลูกอีกที  ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา และในวัย 65 ปีของผม

คนที่สาม เป็นหญิง ชื่ออินทิรา  ครับอายุ 28 เธอจบไฮสกูลที่อินเดีย ที่โรงเรียนวู้ดสต๊อค บนเทือกเขาหิมาลัยที่สวยงาม จากนั้น จบ ป ตรี ที่ Oberlin College ต่อด้วย MD ที่ Jefferson University ปัจจุบันอินทิราจะฝึกหมอเอกซเรย์ หรือ Radilogy ที่ Mt Sinai Hospital ใน มหานครนิวยอร์ค 

อีกเพียงปีเดียวที่ได้อินทิรามาเกิด เราก็ได้ลูกชายคนสุดท้อง ครับ คืออิศรา รายนี้จบไฮสกูลที่เดียวกับพี่อินทิรา และจบ ป ตรีที่ University of Virginia และขณะนี้ทำดุษฎีนิพนธ์ ป เอก ทาง Neuroscience ที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส UTSW

แม่พูดถูก มีลูกหลายคน นั้น ความจริง เลี้ยงไม่ยาก ลูกเป็นเพื่อนกันเอง เล่นกันเองได้ ดูแลและเอาใจใส่กันเองได้จริง ลูกสี่คน คนโตกับคนสุดท้องห่างกันเพียงสามปี นั้นเล่นกันได้ดีมาก รักกันมาก เป็นทั้งพี่น้อง เป็นทั้งเพื่อนกัน  แคร์กันมาก เขาแทบจะไม่เคยทะเลาะหรือมีปากเสียงกันเลย

ดีจนไม่น่าเชื่อคือลูกๆ ชอบกัน รักกัน สนุกด้วยกัน และรักพ่อแม่มาก พี่สาวคนโต เขมรัฐ เป็นพี่คนโตที่น้องทุกคนยอมรับเพราะเป็นทั้งเพื่อนทั้งพี่อย่างดี 

แม้จนต่อมา เมื่อไปอยู่ด้วยกันทั้งสี่คนที่อเมริกา เขมก็ดูแลน้องวัยใกล้เคียงกันได้อย่างเป็นเลิศ น้องๆ ล้อพี่สาวว่าเป็น “แม่” อีกคน

แม่ผมผิดนิดหน่อยที่บอกว่าพี่คนโตๆจะดูน้องคนเล็กๆ ได้ดี เพราะในกรณีของเรา พี่เขม นั้นอายุเท่ากับน้องเขต และแก่กว่าน้องอินเพียงสองปี แก่กว่าน้องอิศแค่สามปี

อดทึ่งไม่ได้ว่าลูกทั้งสี่เป็นทั้งเพื่อนทั้งพี่ทั้งน้องกันอย่างน่ารักที่สุด พวกเขา enjoy กันและกันจริงๆ ธรรมชาตินั้นมีอะไรน่ารักซ่อนเร้นอยู่เยอะครับ

เล่าเรื่องลูกอีกที  ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา และในวัย 65 ปีของผม

เขตรัฐ วันนี้ “ดัง” กว่าใคร ในอดีตเขาสนใจการเรียนน้อยกว่าพี่น้องคนอื่น แต่ก็กลับได้งานทำก่อนคนอื่น แปลกนะ ครับ เป็นงานวิชาการเสียด้วย คือเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่ม รังสิต และต่อมาทีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ และที่คณะวิทยาการเรียนรู้ฯ ของ มธรรมศาสตร์ครับ เขามี “วาสนา” ได้เป็น สส เมื่อ อายุ 30 ปีเอง ส่วนพ่อเขาเอง คือ ผม กว่าจะได้เป็น สส ก็อายุ 47 ปี เข้าไปแล้ว ลูกคนนี้ดูไปแล้ว อาจจะเดินไปในทางที่ใกล้กับพ่อ แต่หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล ดูไปเถิด

เขมและอิน เรียนเก่งมากมาตั้งแต่เด็ก จบ MD ที่อเมริกา ส่วนคุณแม่ของเขานั่นจบแพทยศาสตร์บัณฑิตที่จุฬาฯ ลูก ทั้งสองทำแพทย์เฉพาะทางที่อเมริกาเหมือนแม่ แต่แม่นั้นเรียนที่ College of Physicians and Surgeons ของ Columbia Yniversity ที่น่ายิ้ม น่าหวัวคือ อินทิรา ก็หันมาสนใจ radiology แบบแม่ ซึ่งเป็น ศาสตราจารย์ทางนี้ และยังเคยเป็นประธานราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย

คุณแม่ของหมอสาวทั้งสองคนนั้น ไม่เคยสอนลูก บอกลูก แนะลูก ว่าให้เป็นหมอ นะครับ เธอกลับบอกลูกเสมอว่าเรียนอะไรที่รักที่ชอบดีที่สุด และงานหมอนั้นหนักมาก แทบไม่มีเวลาส่วนตัว แต่ที่สุดลูกสาวทั้งสองก็เดินตามรอยแม่

เล่าเรื่องลูกอีกที  ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา และในวัย 65 ปีของผม

ส่วนอิศรา ลูกชายคนเล็ก นี่ก็เรียนเก่งมาก เขาสนใจวิทยาศาสตร์มาก ครับ และก็ไม่อยากเป็นหมอแบบพี่สาวทั้งสอง คน เขาว่ามัน “ธรรมดา” ไปหน่อย เขาอยากค้นคว้า อยากบุกเบิกความรู้ทาง circadian biology แปลง่าย ๆ คือนาฬิกาของชีวิต ของเซลล์ ฟังดี แต่จริงๆ แล้วไม่รู้เรื่องกับเขาสักเท่าไหร่

เล่าเรื่องลูกอีกที  ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา และในวัย 65 ปีของผม

มหาวิทยาลัยเท็กซัส UTSW ที่อิศราเรียนนั้น มีศาสตราจารย์ระดับโนเบลที่อยู่แนวหน้าสุดของความรู้ใหม่นี้ ผมเคยพูดทีเล่นทีจริงกับอิศราว่า "เอารางวัลโนเบล มาให้เมืองไทยสิ ไหนๆ ก็หลงใหลเรื่องนี้" ซึ่ง เขากลับตอบค่อนข้างจริงจังว่า "จะพยายาม" ครับ ดูเถิด เด็กไทยวันนี้ คนรุ่นใหม่ วันนี้ มี ambition ที่น่าสนใจไหมครับ

ขอบคุณบรรพบุรุษ ขอบคุณสายเลือด จีนส์และโครโมโซม ที่ทำให้เราได้ลูกอย่างนี้ สำนึกเสมอว่าพระบุญญาธิการของพระราชาผู้ครองธรรม ให้ความร่มเย็นแก่แผ่นดิน และลงมากระทั่งพี่เลี้ยง ญาติพี่น้อง หรือ ครูและเพื่อนๆ ของลูกที่โรงเรียน สำคัญ ยิ่ง อาจจะสำคัญกว่าเราสองคนเสียอีก ที่ช่วยรักษาฟูมฟักลูกทั้งสี่ขึ้นมา ผมตระหนักเสมอว่าโชคและบุญวาสนานั้น กำหนดชีวิต ไม่น้อยไปกว่า ปัจจัยที่มองเห็น ที่ คิดออก ที่จับต้องได้ หนทางข้างหน้าของลูกนั้นยังยาวไกล ความล้มเหลว ความผิดพลาด สิ่งที่ไม่คาดฝัน อันตราย และ อุปสรรค ก็รออยู่ข้างหน้า เช่นกัน เป็นหน้าที่อันจะประมาทมิได้ของลูกๆ ทั้งสี่เอง ที่จะต้องนำพาตนเองเดินวิ่งหรือแม้แต่กระโดดต่อไป ประคับประคองตนเองไป ไปในทางที่ถูก ที่ควร กับตนเอง กับครอบครัว กับสังคม กับบ้านเมือง กับแผ่นดิน  คนเป็นพ่อได้แต่หวังว่าเมื่อมาเขียนถึงลูกทั้งสี่เมื่อตนอายุ 72 ใน อีก หกปีข้างหน้า จะมีอะไรที่ดีกว่านี้ ละเอียดกว่านี้ อาจยอกย้อนกว่านี้ วกวนกว่านี้ มาเล่าอีก

 

เล่าเรื่องลูกอีกที  ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา และในวัย 65 ปีของผม