ป.ป.ช.เปิดเบื้องลึก“นาฬิกายืมเพื่อน”เจ้าของไม่สะดวกรับคืน  

24 ก.ค. 2562 | 07:57 น.

เลขาธิการป.ป.ช เผยเบื้องลึกสำนวนไต่สวนคดี “นาฬิกาเพื่อน” คนยืมนำไปคืนแล้วแต่เจ้าของยังไม่สะดวกรับคืน

วันนี้(24 ก.ค.62) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวภายในงานกิจกรรมผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช.พบสื่อมวลชนหัวข้อ “เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน” ตอนหนึ่งถึงประเด็นการยืมบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่กลายเป็นประเด็นในสังคมที่ผ่านมาว่า 


การตรวจสอบทรัพย์สินที่ต้องแสดงต่อ ป.ป.ช. มีทรัพย์สิน 9 ประเภท อาทิ เงินฝาก เงินลงทุน ที่ดิน โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น ส่วนหนี้สินมี 4 ประเภท อาทิ เงินเบิกเกินบัญชี หนี้สินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ เป็นต้น กรณีของการยืมบัญชีทรัพย์สินนั้นเมื่อยึดตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.ยืมใช้คงรูป เช่น การขอยืมทรัพย์สินแบบให้เปล่าแต่มีภาระที่ต้องคืนเมื่อถึงกำหนด กรรมสิทธิ์ไม่โอน ยกตัวอย่างเช่น ตนมีรถใช้บังเอิญว่า รถเสียแต่ต้องการใช้รถ เลยขอยืมรถเพื่อนมาใช้กรณีนี้ตนมีภาระที่ต้องคืนรถคันนั้นเมื่อใช้เสร็จแต่รถคันดังกล่าวไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของตน เป็นต้น


อีกประเภท คือ การยืมใช้สิ้นเปลือง เช่น การยืมเงิน กรรมสิทธิ์ของวัตถุที่ยืม คือ เงิน กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ยืมเลย คนที่ยืมไม่จำเป็นต้องใช้ธนบัตรฉบับเดิมมาใช้หนี้แต่ใช้ธนบัตรฉบับใหม่ได้ ลักษณะเช่นนี้จะระบุไว้ชัดเจนในส่วนของการแสดงรายการหนี้สิน

                                                   ป.ป.ช.เปิดเบื้องลึก“นาฬิกายืมเพื่อน”เจ้าของไม่สะดวกรับคืน  

ส่วนการตั้งข้อสังเกตที่ว่า กรณียืมนานๆนั้น หากกลับไปอ่านข้อเท็จจริงในแถลงข่าวของ ป.ป.ช.ว่า ยืมนานแค่ไหนนั้น ข้อเท็จจริงมีการยืมนาฬิกาทั้งหมด 21 เรือนในช่วงระยะเวลาต่างๆกัน ไม่ได้ยืมกันนานๆ ยืมเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วก็คืน เปลี่ยนใหม่ไปเรื่อยๆจนถึง 21 เรือน 


ทั้งนี้ อาจมีประเด็นที่สื่อมวลชนสงสัยว่า บางเรือนนานผิดปกตินั้น ข้อเท็จจริงในสำนวน ระบุว่า มีการคืนแล้วแต่เจ้าของยังไม่สะดวกที่จะรับคืน เรื่องของระยะเวลาจึงอาจกลายมาเป็นประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกตขึ้น 
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อปรับปรุงแก้ไขแบบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ต้องยื่นแก่ ป.ป.ช. เนื่องจากมีทรัพย์สินหลายรายการที่มีคำอธิบายและอาจเกิดปัญหา เช่น ทรัพย์สินอื่น โดย 2-3 วันก่อนหน้านี้ได้ไปชี้แจงเรื่องยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ ส.ว. ฟัง มีบางรายตั้งข้อสังเกตว่า ทรัพย์สินอื่นนั้นต้องระบุเป็นรายชิ้น หรือ ระบุภาพรวม เป็นต้น เหล่านี้ คือ ประเด็นที่ ป.ป.ช. รับมาพิจารณา

ส่วนกรณีการยืมทรัพย์สิน ถ้าเกิดขึ้นก่อนและถือว่าอยู่ในบริบทที่ควรจะต้องแจ้งหรือไม่นั้น อยู่ในประเด็นที่คณะทำงานศึกษาอยู่และจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต่อไป แต่ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่ว่า ยืมแล้วแจ้งบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ ประเด็นอยู่ที่ว่าใช่การยืมหรือไม่ หรือเป็นของตัวเองแล้วบอกยืมหรือไม่ นี่เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ในการค้นหาความจริง