‘คณิศ’เคลียร์ปมร้อน ผังเมืองอีอีซี ยึดหลักวิชาการ ดูแลพื้นที่อนุรักษ์

26 ก.ค. 2562 | 10:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

 

แม้ว่าแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่คาดว่าจะประกาศใช้ในเดือนสิงหาคมนี้ แต่ก็ยังมีประเด็นร้อนที่ยังสร้างความกังวลกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ล่าสุดทางเครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่เห็นว่าการจัดทำแผนดังกล่าว เป็นกระบวนการเร่งรัด ไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดต่อสาธารณะ และมีหลายกรณีไม่ตรงกับหลักการผังเมืองตามหลักสากลนั้น

 

ยันทำตามหลักวิชาการ

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้ออกมาชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวว่า กระบวนการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินฯ ได้มีการรับฟังความเห็นกว่า 40 ครั้งทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันเผยแพร่ความรู้ด้านผังการใช้พื้นที่ในอีอีซี ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เน้นการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้อง และได้นำ ร่างฯ ไปรับฟังความคิดเห็นโดยตรงกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง ครอบคลุมทุกอำเภอมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561และได้ทำงานตามหลักวิชาการของผังเมืองเสมอมา และเป็นหลักของประเทศในการจัดทำผังเมืองและผังที่เป็นทางการที่ประกาศใช้อยู่ทั่วประเทศ

 

กันห้ามบุกรุกพื้นที่ป่าไม้

อีกทั้ง กระบวนการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินฯ ได้กันพื้นที่ป่าไม้ไว้ชัดเจนเพื่อไม่ให้มีการบุกรุกอีกต่อไป โดยกำหนดระยะห่างจากป่าไม้ไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร ห้ามตั้งโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และมีการกันที่ดินประเภทที่โล่ง เพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมไว้อย่างชัดเจน ในบริเวณแหล่งนํ้า ชายฝั่งทะเล พื้นที่ต้นนํ้า โดยกำหนดระยะห่างจากริมฝั่งตามสภาพธรรมชาติของแม่นํ้าหรือ ลำคลอง ไม่น้อยกว่า 500 เมตร ห้ามตั้ง โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน โดยพื้นที่ส่วนใหญ่กำหนดเป็นสีเขียว ประกอบด้วย พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประมาณ 78% ของพื้นที่ทั้งหมด

‘คณิศ’เคลียร์ปมร้อน ผังเมืองอีอีซี ยึดหลักวิชาการ ดูแลพื้นที่อนุรักษ์ ​​​​​​

ใกล้แหล่งนํ้าห้ามตั้งโรงงาน

ขณะเดียวกัน ได้กำหนดบริเวณตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่อนุรักษ์นิเวศโดยรอบที่ดินริมแม่นํ้าบางปะกง และคลองอ้อม และกำหนดพื้นที่ถัดเข้ามาเป็นที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรมอยู่แล้ว นอกจากนั้นได้กำหนดระยะห่างจากริมฝั่งตามสภาพธรรมชาติของแม่นํ้าหรือ ลำคลอง ไม่น้อยกว่า 500 เมตร ห้ามตั้งโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน

อีกทั้งการพัฒนาพื้นที่รองรับอุตสาหกรรม ในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ได้กำหนดรูปแบบการจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมภายใต้กฎหมายของการนิคมอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ที่มีการกำกับดูแล การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และจะต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และดำเนินการตามกฎหมาย อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับกรณีขอให้การกำหนดพื้นที่บริเวณรอยต่อจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี บริเวณนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ชลบุรี โครงการ 2 เป็นที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรม นั้น ที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการถูกต้อง ครบถ้วนตามขั้นตอนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแล้ว การออกแบบโครงการ เป็นไปตามหลักวิชาการทุกประการ รวมถึงมีมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม

 

คุมเข้มพื้นที่สีเขียว

ส่วนพื้นที่บริเวณต้นนํ้าคลองระบม ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา กำหนดให้ที่ดินบางส่วนเป็นที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรมเพียง 2 จุดเท่านั้น เนื่องจากมีการประกอบกิจการด้านอุตสาหกรรม ก่อนที่จะมีการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินฯ อย่างไรก็ตามข้อกังวลหรือปัญหาที่เกิดขึ้น จะมีการกำหนดมาตรการกำกับดูแลไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด ส่วนพื้นที่ที่เหลือได้กำหนดเป็นที่ดินประเภทเกษตรกรรมและชุมชนชนบทแล้ว

นอกจากนี้ การกำหนดพื้นที่ริมแม่นํ้านครนายก บริเวณโยธะกา อำเภอบางนํ้าเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ในร่างฯได้กำหนดให้พื้นที่บริเวณริมแม่นํ้าบางปะกงเป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ และกำหนดพื้นที่บริเวณถัดเข้ามาเป็นที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรมอยู่แล้ว

‘คณิศ’เคลียร์ปมร้อน ผังเมืองอีอีซี ยึดหลักวิชาการ ดูแลพื้นที่อนุรักษ์

โยธะกาเป็นพื้นที่กองทัพเรือ

อย่างไรก็ตาม การกำหนดพื้นที่บริเวณตำบลโยธะกา บางส่วนประมาณ 4,000 ไร่ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองทัพเรือ เป็นพื้นที่สงวนไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในราชการทหาร (สีขาว) เป็นหลักการ ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานใกล้แม่นํ้าบางปะกง บริเวณอำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทราได้ถูกกำหนดเป็นที่ดินประเภทเกษตรกรรมและชุมชนชนบทอยู่แล้ว เพื่อรักษาพื้นที่เกษตรกรรมที่เป็นแหล่งอาหารของพื้นที่

ขณะที่โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์รองรับอีอีซีนั้น เป็นเพียงผลการศึกษาเบื้องต้นทางวิชาการ ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เท่านั้น ที่กำหนดให้พื้นที่บริเวณตำบลหนองตีนนก อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา พื้นที่ประมาณ 700 ไร่ เป็นที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้ง ICD และยังไม่ได้บรรจุโครงการ ICD เป็นกิจกรรมในการจัดทำแผนผังระบบคมนาคมขนส่ง 

รายงาน : โต๊ะข่าวอีอีซี

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3490  วันที่ 25-27 กรกฎาคม 2562

‘คณิศ’เคลียร์ปมร้อน ผังเมืองอีอีซี ยึดหลักวิชาการ ดูแลพื้นที่อนุรักษ์