เมินแบงก์ เอกชนลุย ออกหุ้นกู้

13 ก.ค. 2562 | 05:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

 

เอกชนเมินกู้เงินแบงก์ ออกหุ้นกู้เอง ดันมูลค่าออกหุ้นกู้ปีนี้ทะลุ 1 ล้านล้านบาทครั้งแรกในประวัติศาสตร์ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยมองแบงก์ชาติมีโอกาสลดดอกเบี้ยแน่ หลังประธานเฟดส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยเดือนนี้  ชงขุนคลังคนใหม่ พิจารณาเก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้ เหตุไม่มีความเท่าเทียมในการปฏิบัติ

การออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้) มีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากภาคเอกชนเข้ามาใช้ประโยชน์จากการระดมเงินลงทุนผ่านตลาดตราสารหนี้มากขึ้น และลดสัดส่วนกู้เงินจากสถาบันการเงินลง เพราะสามารถทำได้ง่าย อีกทั้งยังมีเครดิตเรตติ้งอยู่แล้ว จึงทำให้ง่ายต่อการได้เงินเพื่อนำมาใช้ขยายกิจการ ส่งผลให้ปีนี้คาดว่าการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนจะมียอดมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ถือเป็นการทำสถิติใหม่ในประวัติการณ์ 

 

เมินแบงก์  เอกชนลุย ออกหุ้นกู้

 

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า สมาคม ได้ปรับเป้าหมายการออกหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนไทยในปีนี้ใหม่เป็น 1 ล้านล้านบาท ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จากเป้าหมายเดิมที่ 850,000 ล้านบาท เนื่องจากช่วงครึ่งปีแรกภาคเอกชนใช้ประโยชน์การระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ระยะยาวต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าที่ออกไปแล้วกว่า 567,226 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ระดมเงินทุน เพื่อใช้ขยายกิจการและทดแทนหุ้นกู้เดิม

อย่างไรก็ตาม ในครึ่งปีหลังคาดจะมีเอกชนยังออกหุ้นกู้ต่อเนื่อง แบ่งเป็นมูลค่าการออกหุ้นกู้เพื่อชดเชยวงเงินเดิม (Roll over) ประมาณ 180,000 ล้านบาท มูลค่าที่อยู่ในแผนการระดมทุน  (In the pipeline) ประมาณ 102,000 ล้านบาท มูลค่าที่จะออกเพื่อใช้ในการควบรวมกิจการ (M&A) ประมาณ 50,000 ล้านบาท และการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่สามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญหรือตัดเป็นหนี้สูญได้ของธนาคารพาณิชย์ (Basel3) อีก 51,000 ล้านบาท

ขณะที่ ทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะปรับลดลง เนื่องจากการที่เงินบาทแข็งค่า และเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จะเป็นแรงกดดันให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วงปลายปี 2562 จนถึงต้นปี 2563 โดยคาดว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นอาจปรับตัวลดลงจากการปรับลดวงเงินการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เริ่มในเดือนกรกฎาคม ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวจะปรับตัวลดลงในกรอบจำกัด เพราะเงินเฟ้อและการลงทุนภาครัฐและเอกชนยังคงทรงตัว เพื่อรอความชัดเจนนโยบายของรัฐบาลใหม่

“คาดว่าช่วงครึ่งปีหลัง กระแสเงินทุนต่างชาติจะไหลเข้าตลาดพันธบัตรไม่เยอะแล้ว เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาผู้ว่าธปท.ส่งสัญญาณว่าหากมีความจำเป็นก็อาจจะพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ทิศทางกระแสเงินทุนต่างชาติจะไหลเข้าพันธบัตรระยะสั้นลดลง และหันมาลงทุนในพันธบัตรระยะยาวเพิ่มขึ้น

สำหรับภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยครึ่งปีแรก พบว่าตลาดโดยรวมเติบโต 5.45% มีมูลค่าคงค้างรวมเพิ่มขึ้นเป็น 13.49 ล้านล้านบาท จาก 12.79 ล้านล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2561 ที่ผ่านมา โดยยอดการซื้อขายสะสมสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 อยู่ที่สถานะซื้อสุทธิ 3,267 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายออกในตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้นและเข้าซื้อในตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาว ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิของต่างชาติในตราสารหนี้ไทย ครึ่งปีแรกอยู่ที่ 989,206 ล้านบาท หรือคิดเป็น 73% ของมูลค่ารวมตลาดตราสารหนี้ไทย

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวถึงกรณีที่ภาษีกองทุนตราสารหนี้ จะมีผลวันที่ 20 สิงหาคมนี้ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อผลตอบแทนกองทุนรวมจะค่อยเป็นค่อยไปแบบไม่รุนแรง โดยที่ผ่านมา สมาคมตลาดทุนไทยได้หารือร่วมกับว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อให้พิจารณาการเก็บภาษีใหม่ เพราะยังมีความเท่าเทียมในการปฏิบัติ เนื่องจากภาษีจะเก็บในอัตรา 15% ของดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (คูปอง) แต่หากกองทุนลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยคูปองสูงกว่าผลตอบแทนที่ได้รับจริง อาจทำให้นักลงทุนถูกเก็บภาษีเกินกว่าผลตอบแทนที่ได้รับจริง

นอกจากนี้ ยังแนะนำนักลงทุนให้พิจารณาความเสี่ยงก่อนที่เข้าไปลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ของสถาบันการเงิน ที่เสนอขายให้กับนักลงทุน ซึ่งถึงแม้จะเป็นไปตามเกณฑ์ธปท. โดยส่วนใหญ่มีระยะเวลาถือครอง 10 ปี สามารถไถ่ถอนก่อนกำหนดได้ในปีที่ 5 แต่หุ้นกู้ดังกล่าวมีสิทธิที่จะไม่จ่ายดอกเบี้ยให้ หรือหากธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่ดี อาจจะตัดกองทุนทิ้ง ทำให้เสียหาย และสูญเงินได้ จึงควรทำความเข้าใจและพิจารณาความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน       

 

นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ จำกัด กล่าวว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของตลาดโลกในช่วงครึ่งปีหลังถัดจากนี้ มองว่าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวลดลง นำโดยธนาคารกลางทั่วโลกโดยเฉพาะของประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และคาดว่า ธปท. มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงภายในปีนี้เช่นกัน

คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างช้าในเดือนกันยายนนี้ ขณะที่อีซีบีจะส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเช่นกันอีก จากระดับติดลบในปัจจุบัน อีกทั้งพร้อมใช้มาตรการ QE ควบคู่ด้วย หากมองจากปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ย ผลที่เกิดจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะทำให้การลงทุนในตราสารหนี้เพียงอย่างเดียวอาจได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ตํ่าลง

สำหรับในแง่ของการลงทุน นักลงทุนที่มีความสนใจในการลงทุนกองทุนตราสารหนี้ควรปรับพอร์ตการลงทุนและเลือกหาสินทรัพย์อื่นเพื่อชดเชยผลกระทบบางส่วนที่เกิดขึ้นจากปัจจัยดังกล่าว โดยมองว่าการลงทุนในกองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) อัตราผลตอบแทนยังคงน่าสนใจและยังคงอยู่ในระดับสูงตลอด 5 ปีที่ผ่านมา หากพิจารณาอัตราผลตอบแทนของ REIT เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5% เมื่อเทียบกับผลตอบแทนของเงินปันผลจากการลงทุนในหุ้น ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ และเงินฝากเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3% พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ประมาณ 2.5% เงินฝากอยู่ที่ประมาณ 0.75%

 

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,487 วันที่ 14-17 กรกฎาคม 2562

เมินแบงก์  เอกชนลุย ออกหุ้นกู้