ฟิวเจอร์สทอง COMEX  กลับมาเป็น‘สถานะขายสุทธิ’กดดันราคาทอง

01 พ.ค. 2562 | 11:51 น.

ครบเครื่องเรื่องทองกับ YLG

พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 

บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

 

เหมือนว่าตอนนี้ การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำจะมีอุปสรรคมากขึ้น แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะส่งสัญญาณยํ้าชัดในการชะลอการคุมเข้มนโยบายการเงินก็ตาม แต่ดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงินกลับแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกยังคงเคลื่อนไหวทรงตัวในระดับสูงจนเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มเติม

ขณะเดียวกันกองทุน SPDR ลดการถือครองทองคำต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบัน SPDR ถือครองทองคำที่ระดับ 746.69 ตัน ซึ่งเป็นระดับตํ่าสุดในรอบมากกว่า 6 เดือน ทำให้นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน SPDR ลดการถือครองทองคำลงแล้วกว่า 40 ตัน สะท้อนความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยที่ชะลอตัวลง

ฟิวเจอร์สทอง COMEX   กลับมาเป็น‘สถานะขายสุทธิ’กดดันราคาทอง

อีกหนึ่งรายงานที่บ่งชี้ถึง sentiment เชิงลบต่อการลงทุนทองคำ ได้แก่ สถานะสุทธิของข้อมูลที่แยกประเภทของคณะกรรมาธิการการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ (CFTC) ของสหรัฐฯ ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงส่วนต่างระหว่างจำนวนสถานะซื้อ (Long Position) และสถานะขาย (Short Position) โดยเทรดเดอร์จะใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อประเมินอารมณ์โดยทั่วไปของนักเก็งกำไรในตลาด ล่าสุดในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 23 เมษายน สถานะสุทธิในตลาดฟิวเจอร์สทองคำ COMEX กลับมาเป็นสถานะขายสุทธิต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากก่อนหน้านี้สถานะสุทธิในตลาดเป็นสถานะซื้อสุทธิต่อเนื่อง 17 สัปดาห์ติดต่อกัน

ฟิวเจอร์สทอง COMEX   กลับมาเป็น‘สถานะขายสุทธิ’กดดันราคาทอง

ทั้งนี้ ข้อมูลของ CFTC รายงานว่า กองทุนเฮดจ์ฟันด์และผู้จัดการกองทุนได้เพิ่มสถานะขาย (Short positions) สัญญาฟิวเจอร์สทองคำ COMEX สู่ระดับ 122,818 สัญญา ขณะที่สถานะซื้อ (Long positions) ลดลงเหลือ 88,989 สัญญา ทำให้สถานะสุทธิในตลาดกลับมาเป็นสถานะขายสุทธิที่ระดับ 33,829 สัญญา บ่งชี้ถึงการคาดการณ์เชิงลบที่เพิ่มขึ้นทำให้การซื้อขายในตลาดทองคำยังคงซบเซา

แม้จะเผชิญกับปัจจัยลบ แต่ก็ยังมีข่าวดีสำหรับทองคำอยู่บ้าง นั่นก็คืออุปสงค์ความต้องการทองคำจากธนาคารกลางทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่ง นำโดยธนาคารกลางรัสเซียที่เข้าซื้อทองคำปริมาณ 274 ตันในปี 2018 และซื้อเพิ่มอีก 56 ตันในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม เช่นเดียวกับธนาคารกลางของจีนที่การเข้าซื้อเริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคมและซื้อเพิ่มอีก 32.95 ตันในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ร่วมด้วยธนาคารกลางของอินเดียที่เข้าซื้อทองคำประมาณ 42 ตันเมื่อปีที่แล้วและซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ทำให้ตอนนี้ทองคำสำรองของประเทศอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับเกือบ 609 ตัน ไม่เพียงเท่านั้นธนาคารกลางคาซัคสถาน, กาตาร์, ตุรกีและยูเครน ก็เป็นผู้ซื้อสำคัญในปีนี้เช่นกัน ดังนั้นการเข้าซื้อของธนาคารกลางทั่วโลกน่าจะเป็นปัจจัยที่อาจช่วยสร้างเสถียร ภาพให้แก่ราคาทองคำ ท่ามกลางปัจจัยลบที่ราคาทองคำกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน 

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,466 วันที่ 2-4 พฤษภาคม 2562

ฟิวเจอร์สทอง COMEX   กลับมาเป็น‘สถานะขายสุทธิ’กดดันราคาทอง