“สมคิด” สั่งอัดฉีดเอสเอ็มอี เร่งฟื้นศก.ในช่วง 3 เดือน

22 เม.ย. 2562 | 08:57 น.

“สมคิด” สั่งข้าราชการกระทรวงอุตฯทำงานเต็มที่ พร้อมทำงานกับรัฐบาลใหม่ และสั่งการให้เอสเอ็มอีแบงก์อัดฉีดเงินหนุนเอสเอ็มอีในช่วง 3 เดือนนี้ จี้ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมสู่ 4.0

 

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจเยี่ยมกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรมให้การต้อนรับ พร้อมกับประชุมหารือผลการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม โดยกระทรวงฯได้นำเสนอแนวทางการจัดทำแพลตฟอร์ม เพื่อเพิ่มทักษะและยกระดับแรงงานฝีมือที่จะเชื่อมโยงกับภาคเอกชน รวมถึงการรายงานความคืบหน้าการส่งเสริมพัฒนา SMEs ในด้านต่าง ๆ  ทั้งโครงการ InnoSpace และการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม 4.0 (Factory 4.0)

 

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ได้รายงานความคืบหน้าของโครงการและกิจกรรมส่งเสริมพัฒนา SMEs ต่าง ๆ ให้รองนายกรัฐมนตรีรับทราบ โดยนำเสนอวาระเร่งด่วนที่จะดำเนินการ ในปี 2562 - 2565 ตั้งแต่การเพิ่มผลิตภาพด้วยแนวทาง Three Stage Rocket การใช้ประโยชน์จาก  Digital Value Chain การส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรมผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 โดยโครงการ InnoSpace ที่กำลังดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างและพัฒนาสตาร์ทอัพไทยว่า หลังจากที่บริษัท InnoSpace (Thailand) ได้ร่วมลงนาม MOU กับหน่วยงานของฮ่องกง ได้แก่ Cyberport, HPA และ HKTDC แล้ว

 

ปัจจุบันกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ในฐานะหน่วยงานหลักร่วมดำเนินงาน อยู่ระหว่างการจัดทำโครงการ Startup Boot Camp นำร่อง เพื่อสร้างสตาร์ทอัพในสาขาเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์ และอุตสาหกรรมบริการ โดยร่วมกับ บริษัท InnoSpace (Thailand) และพันธมิตรฮ่องกง ตั้งแต่กระบวนการกำหนดโจทย์แนวคิดการทำธุรกิจ การบ่มเพาะ การจัดทำแผนด้านการตลาด จนถึงให้การสนับสนุนเงินทุนแก่สตาร์ทอัพ ที่มีศักยภาพ โดยคาดว่าจะสามารถพัฒนาสตาร์ทอัพได้ไม่น้อยกว่า 10,000 รายภายในปี 2565 

 

นอกจากนี้ ยังจะมีการเปิดตัวกิจกรรมดังกล่าวในช่วงเดือนมิถุนายน 2562 หลังการลงนามความร่วมมือระหว่างพันธมิตรภาครัฐ- เอกชน สถาบันการเงิน และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ InnoSpace (Thailand) ซึ่งจะกลายเป็น Platform การสร้างและพัฒนาสตาร์ทอัพที่สำคัญของประเทศ

 

“ในส่วนของบริษัท InnoSpace (Thailand) ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประสานหน่วยภาคีเครือข่ายภาครัฐ-เอกชน และสถาบันการศึกษาในการบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยประกอบไปด้วยเสาหลักต่าง ๆ ได้แก่ 1. มหาวิทยาลัย  2.บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีพลังด้านการเงินและสามารถเข้ามาร่วมลงทุนกับทางบริษัทฯ 3. หน่วยงานร่วมลงทุน 4. หน่วยงานเครือข่ายภาครัฐ

นายสมชาย หาญหิรัญ

 

ขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการโดยผ่านกลไก Digital Transformation ด้วยการมุ่งเน้นผลักดันให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ AI และ Big Data เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการผลิตไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 มากขึ้น ซึ่งโครงการและกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่าง ๆ ที่นำเสนอต่อรองนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ จะมีความเชื่อมโยงกัน โดยเน้นการตลาดนำการผลิต การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างนวัตกรรมและการเพิ่มผลิตภาพ ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคเกษตรของไทยอย่างยั่งยืน

 

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการด้านการเงินที่มุ่งเน้นตอบสนองความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนของวิสาหกิจขนาดย่อม โดยสำนักงานกองทุนพัฒนา          เอสเอ็มอี สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้สามารถใช้เงินกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ที่คาดว่าจะเหลือจากการวิเคราะห์เพื่อปล่อยสินเชื่อ จำนวนกว่า 1,000 ล้านบาท และเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยที่ไหลเวียนกลับเข้ามาจากการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวนกว่า 1,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,000 ล้านบาท ในการสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมให้แก่วิสาหกิจขนาดย่อม (สินเชื่อคนตัวเล็ก) จำนวน 4,000 ราย ซึ่งปัจจุบันได้มีการปล่อยกู้ไปแล้ว 8,000 ล้านบาท จำนวนกว่า 8,600 ราย

 

อย่างไรก็ตาม ความต้องการของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อม ยังมีความต้องการอีกเป็นจำนวนมาก จึงได้เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีให้อนุมัติใช้วงเงินดังกล่าวภายในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการคนตัวเล็กได้มากขึ้น

นายพสุ โลหารชุน

นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ในภาพรวมทั้งระบบ ประกอบด้วย 1.มาตรการทางกฎหมาย โดยจะมีการออกระเบียบสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ในฤดูการผลิตปี 2562/63 ที่จะเริ่มเปิดหีบอ้อยในเดือนพฤศจิกายนนี้ เป็นต้นไป เพื่อกำหนดให้โรงงานน้ำตาลต้องรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบในโรงงานได้ไม่เกิน 30% ต่อวัน ของกำลังการผลิตในแต่ละวันสำหรับในฤดูการผลิตปี 2563/64 โรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 20% ต่อวัน และฤดูการผลิตปี 2564/2565 จะลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเพียง 0-5% ต่อวัน เพื่อทำให้ปริมาณอ้อยไฟไหม้หมดไปภายใน 3 ปีนับจากนี้

 

2.มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐในการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ เช่น การอุดหนุนให้เกษตรกรสามารถซื้อรถตัดอ้อยมาใช้ตัดอ้อยแทนการเผาอ้อยเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานคนตัดอ้อย โดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรสหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อยกลุ่มบุคคล และวิสาหกิจชุมชน

 

นอกจากนี้ จะนำเสนอมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการรถตัดอ้อยที่เป็นผู้ผลิตคนไทยทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิตและจำหน่ายให้เพียงพอกับความต้องการ และส่งเสริมการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยการใช้รถตัดอ้อยและเครื่องจักรกลการเกษตรอื่นๆนำไปจดทะเบียนเครื่องจักร ตามกฎหมายกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อนำไปเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันกับแหล่งเงินกู้ได้อีกด้วย และ 3.มาตรการด้านการบริหารจัดการในการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ โดยการบริหารจัดการการผลิตแบบบูรณาการ การจัดการพื้นที่ปลอดอ้อยไฟไหม้ โดยความร่วมมือจากโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยเป็นจังหวัดปลอดการเผาอ้อยในแต่ละภาค รวม 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดเลย และจังหวัดอุตรดิตถ์ และการจัดการพื้นที่ลดปริมาณพื้นที่เก็บเกี่ยวอ้อยไฟไหม้ ในรัศมีรอบชุมชน 5 กิโลเมตร รัศมีรอบโรงงาน 10 กิโลเมตร โดยจะดำเนินการในทุกพื้นที่ที่มีการปลูกอ้อย หรือที่โรงงานน้ำตาลตั้งอยู่

 

 

 

 

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากเลือกเป็นต้นมา ในช่วง 2 เดือนนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจนิ่งในลักษณะ “Sleeping Beauty” โดยเศรษฐกิจเติบโตลดลงเหลือกว่า 3% จากที่เติบโตระดับ 4 % ซึ่งรัฐบาลไม่ต้องการให้เศรษกิจเติบโตแบบชะลอลง จึงได้ให้ข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง แม้อยู่ในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลปัจจุบันไปสู่รัฐบาลใหม่ เพื่อให้งานการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี และธุรกิจสตาร์ทอัพเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่องไม่สะดุด และขอให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จัดทำมาตรการเพื่ออัดฉีดเงินให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีภายใน 3 เดือนนี้ เพื่อนำไปเตรียมความพร้อมที่จะเดินหน้าใหม่ต่อทันทีที่รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ 

 

อีกทั้ง ขอให้เดินหน้ากระบวนการเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ยุคดิจิทัล ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม จัดทำมาตรการแบบครบวงจรเชิงบังคับและจูงใจภาคเอกชนไทยให้มีนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการทำธุรกิจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น IoT , Big Data และการจัดทำบัญชีเดียว เป็นต้น และนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป เพราะหากไม่ทำผู้ประกอบการไทยจะไม่สามารถแข่งขันได้

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

นอกจากนี้ ยังขอให้เดินหน้าเตรียมความพร้อมของบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ที่จะทำหน้าที่พัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและธุรกิจสตาร์ทอัพ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม  วางรูปแบบการทำงานกับพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชน และพันธมิตรต่างประเทศ พร้อมมีคณะผู้บริหารบริษัทภายในเดือนพฤษภาคมนี้  ก่อนที่รัฐบาลใหม่จะเข้ามาบริหารประเทศ และต้องพร้อมขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2563

 

ขณะที่การสร้างมาตรฐาน  ยกระดับ ปรับทักษะบุคลากร ให้รองรับระบบเศรษฐกิจ 4.0 นั้น การทำงานจะต้องเป็นในลักษณะบูรณาการกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาและกระทรวงแรงงาน โดยดำเนินการภายใต้ “โครงการส่งเสริมการปฏิรูป SMEs สู่ 4.0 ด้วย Industrial Transformation Platform ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างขอการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมรวม 8,629 ล้านบาท

 

ส่วนการลดปัญหาฝุ่นละออง P.M.2.5 โดยเฉพาะฝุ่นละอองจากอ้อยไฟไหม้ ได้ย้ำให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เดินหน้ามาตรการลดการเผาอ้อย ให้ได้ตามกรอบระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้ไปภายใต้งบประมาณช่วยเหลือ 2,000 ล้านบาทในรูปแบบสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ชาวไร่อ้อย

 

นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)เตรียมพร้อมรองรับการเข้ามาลงทุนของนักลงทุน โดยให้ กนอ.ก้าวสู่ยุค กนอ. 4.0 เพื่อให้สามารถตอบรับการเข้ามาลงทุนได้สะดวก ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ขอให้ดำเนินการด้วยดีมีการต่อรองที่เหมาะสมไม่ให้เป็นที่ครหา เพราะจะนำเป็นโครงการตัวอย่างในการเดินทางไปพบปะกับนักลงทุนจีนต่อไป

 

ส่วนโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ SEZ ที่นิคม สระแก้ว ตาก สงขลา และนราธิวาส จะต้องพิจารณาว่า จะให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ และต้องมีพื้นที่รองรับสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพโดยจัดทำในแผนระยะ 5 ปีข้างหน้าเอาไว้ด้วย

“สมคิด” สั่งอัดฉีดเอสเอ็มอี เร่งฟื้นศก.ในช่วง 3 เดือน