"เมืองป่าตอง" ยกระดับ "ไมซ์" ของเอเชีย ประกาศความพร้อมลงทุนศูนย์ประชุมและโรงแรม

08 เม.ย. 2562 | 09:45 น.


นายกเทศมนตรีเมืองป่าตองประกาศความพร้อมปรับปรุงฟื้นฟูเมืองและลงทุนศูนย์การประชุมนานาชาติ พร้อมห้องพักโรงแรมรองรับ 1 แสนห้อง วางแผน ยกระดับเป็นไมซ์มาตรฐานของเอเชียในปี 2030 เผย ช่วงกลาง พ.ค. นี้ ลงนามข้อตกลงกฎบัตรป่าตอง 6 สาขา ล่าสุด ยังมีลุ้นรถไฟฟ้ารางเบา

 

"เมืองป่าตอง" ยกระดับ "ไมซ์" ของเอเชีย ประกาศความพร้อมลงทุนศูนย์ประชุมและโรงแรม

 

น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ภายหลังการประชุมปฏิบัติการกฎบัตรป่าตอง ครั้งที่ 3 ว่า ที่ประชุมมติจัดตั้งคณะกรรมการกฎบัตรป่าตอง แบ่งเป็น 6 สาขาการพัฒนา ได้แก่ สาขาไมซ์ สาขาเศรษฐกิจสีเขียว สาขาอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สาขาโครงสร้างพื้นฐานเขียว สาขาคมนาคมขนส่งสีเขียว และสาขาการปรับปรุงฟื้นฟูเมือง สวนสาธารณะ และพื้นที่สาธารณะ โดยมีผู้แทนหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน ชุมชน และสถาบันการศึกษา กระจายอยู่ในทุกสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการโรงแรม ซึ่งให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเป็นจำนวนมาก

สำหรับผลสรุปสำคัญที่ได้จากการประชุมนั้น น.ส.เฉลิมลักษณ์ กล่าวว่า สาขาไมซ์ได้กำหนดเป้าหมายปี 2030 ให้ป่าตองเพิ่มศูนย์ประชุม รองรับได้ไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน ซึ่งปัจจุบัน ป่าตองมีห้องประชุมรองรับได้แล้วประมาณ 1 หมื่นคน ปริมาณที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากการลงทุนศูนย์ประชุมขนาดกลาง จำนวน 4 แห่ง รองรับได้แห่งละ 7,500 คน ที่เหลือจะขยายจากห้องประชุมที่มีอยู่เดิม

 

"เมืองป่าตอง" ยกระดับ "ไมซ์" ของเอเชีย ประกาศความพร้อมลงทุนศูนย์ประชุมและโรงแรม

 

สำหรับการลงทุนก่อสร้างโรงแรมที่พักนั้น ปัจจุบัน ป่าตองมีห้องพัก 4 หมื่นห้อง จะก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีก 6 หมื่นห้อง รวมเป็น 1 แสนห้อง ในปี 2030 ซึ่งน่าจะพอเพียงต่อการรองรับธุรกิจไมซ์ นอกจากนั้น สาขาไมซ์ยังกำหนดเป้าหมายการประชุมสัมมนาไม่น้อยกว่าปีละ 8,000 ครั้ง การประชุมนานาชาติไม่น้อยกว่า 240 ครั้ง นิทรรศการและกิจกรรมอีเวนต์ขนาดใหญ่ ไม่น้อยกว่าปีละ 15 ครั้ง
 


สำหรับข้อกังวลด้านอุปสรรคจากข้อกฎหมายต่าง ๆ เข่น กฎกระทรวงผังเมืองรวมเมืองภูเก็ตนั้น น.ส.เฉลิมลักษณ์ กล่าวว่า หลังจากที่เทศบาลป่าตองและคณะที่ปรึกษากฎบัตรได้นำเสนอข้อมูลการพัฒนาป่าตองเป็นเมืองไมซ์ น่ายินดีที่กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ปรับปรุงแก้ไขข้อห้ามความสูงอาคาร ขนาดอาคาร ระยะร่น และการใช้ประโยชน์ที่ดินไปบางส่วน ปัจจุบัน ผังเมืองรวมฉบับดังกล่าวอยู่ระหว่างปิดประกาศ 15 วัน และรับฟังความคิดเห็น ซึ่งตนเองจะเข้าชี้แจงรายละเอียดข้อมูลวิชาการ พร้อมด้วยข้อเสนอปรับปรุงข้อกำหนดผังเมืองรวมเพิ่มเติมจากที่ได้เสนอไปแล้ว ได้แก่ การขยายความสูงอาคารในพื้นที่โซนชั้นในให้เป็น 90 เมตร นอกจากนั้นจะเสนอแก้ไขประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกฎกระทรวงควบคุมอาคารพื้นที่ จ.ภูเก็ต ด้านการกำหนดจำนวนพื้นที่จอดรถสำหรับอาคารขนาดใหญ่พิเศษและอาคารสาธารณะให้สอดคล้องกับผังเมืองรวม เนื่องจากในอนาคต นักท่องเที่ยว ผู้ซื้อที่อยู่อาศัย รวมทั้งผู้เข้าประชุมในหาดป่าตอง ต่างเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ไม่ได้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเช่นเดียวกับพื้นที่แผ่นดินใหญ่

 

"เมืองป่าตอง" ยกระดับ "ไมซ์" ของเอเชีย ประกาศความพร้อมลงทุนศูนย์ประชุมและโรงแรม

 

"ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดให้มีที่จอดรถเป็นจำนวนมาก สิ้นเปลืองที่ดิน และไม่ประหยัดในการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งจะเสนอปรับปรุงข้อกำหนดขนาดเขตทางให้สัมพันธ์กับขนาดและความสูงของอาคาร เพื่อให้เกิดความสะดวกในการวางแผนและการออกแบบพื้นที่เศรษฐกิจเมืองป่าตองในอันดับต่อไป"

 

"เมืองป่าตอง" ยกระดับ "ไมซ์" ของเอเชีย ประกาศความพร้อมลงทุนศูนย์ประชุมและโรงแรม


ด้าน นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย ในฐานะกรรมการกฎบัตรป่าตองและหัวหน้าโครงการวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนาเมืองด้วยการออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคม (SG-ABC) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า น่ายินดีที่กลุ่มคมนาคมขนส่งสีเขียวได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาตามเป้าหมายปี 2030 ให้ป่าตองพื้นที่เขตเมือง 5.4 ตารางกิโลเมตร มีโครงข่ายทางเดินเชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์ มีค่าความสามารถในการเดินถึง หรือ Walkscore ไม่น้อยกว่า 80% และยังกำหนดให้ถนนทวีวงศ์ ซึ่งเป็นถนนสายเลียบชายหาดเป็นถนนแห่งการเดิน หรือ Pedestrian Mall อนุญาตให้รถยนต์ที่มีกิจการอยู่ในบริเวณนั้นเข้าได้ เช่นเดียวรถขนส่งมวลชน พร้อมทั้งยังกำหนดการลงทุนโครงข่ายขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมพื้นที่เขตเมือง เพื่อลดความจำเป็นในการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ทั้งนี้ ผู้ประกอบการขนส่งมวลชนจะมาจากผู้ประกอบการรถขนส่งสาธารณะที่ให้บริการอยู่ในขณะนี้

 

"เมืองป่าตอง" ยกระดับ "ไมซ์" ของเอเชีย ประกาศความพร้อมลงทุนศูนย์ประชุมและโรงแรม

 

สำหรับกิจกรรมการพัฒนาเมืองเขียว หรือ Greenest City นอกจากระบบคมนาคมขนส่งสีเขียวแล้ว สาขาการปรับปรุงฟื้นฟูเมืองยังได้กำหนดให้พัฒนาระบบกายภาพชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มพื้นที่สีเขียว พื้นที่สวนสาธารณะ การเพิ่มต้นไม้ใหญ่ในเมืองไม่น้อยกว่า 1 หมื่นต้น การใช้ที่ดินสาธารณะที่งอกในทะเล จำนวน 47 ไร่ เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ การบริหารจัดการขนะมูลฝอยและน้ำเสียในเชิงบูรณาการ เป็นต้น

ส่วนกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานเขียวได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาคูคลอง โดยเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำและการนำพื้นที่คลองชั้นในออกแบบเป็นสถานที่สาธารณะกึ่ง Waterfront และ Public Plaza เป็นพื้นที่พิเศษ (Great Places) แหล่งนันทนาการของประชาชนและนักท่องเที่ยวต่อไป

"โดยในช่วงกลางเดือน พ.ค. ที่จะถึงนี้ คณะกรรมการกฎบัตรป่าตองจะได้จัดการประชุมลงนามกฎบัตรป่าตอง คาดว่าจะมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคชุมชน และสถาบันการศึกษา เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 30 องค์กร มีผู้ร่วมเป็นสักขีพยานไม่น้อยกว่า 300 คน"

ทั้งนี้ สำหรับความคืบหน้าแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่ จ.ภูเก็ต นั้น ปัจจุบัน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างการเร่งศึกษาตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน ในโครงการระบบขนส่งมวลชนเมืองภูเก็ต พร้อมเตรียมการประกาศประกวดราคา คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ระยะทาง 60 กิโลเมตร ซึ่งแนวเส้นทางจะเกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ อ.ท่านุ่น จ.พังงา อีกด้วย ล่าสุด ยังอยู่ระหว่างการเจรจาขอใช้พื้นที่ของกรมทางหลวง

 

"เมืองป่าตอง" ยกระดับ "ไมซ์" ของเอเชีย ประกาศความพร้อมลงทุนศูนย์ประชุมและโรงแรม