วาง 4 หลักเกณฑ์ ทำ "หนังสือที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ" เปิดให้รัฐ-เอกชนยื่นคำขอภายใน 22 เม.ย. นี้

04 เม.ย. 2562 | 09:31 น.


อนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เห็นชอบ 4 หลักเกณฑ์ พิจารณากลั่นกรอง 4 แนวทาง การจัดทำหนังสือที่ระลึกเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ โดยจะเปิดให้หน่วยงานรัฐ-เอกชน ยื่นคำขอจัดทำหนังสือภายใน 22 เม.ย. นี้

 

วาง 4 หลักเกณฑ์ ทำ "หนังสือที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ" เปิดให้รัฐ-เอกชนยื่นคำขอภายใน 22 เม.ย. นี้

 

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 2/2562 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมและคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกฯ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและได้รับมอบหมายให้จัดทำหลักเกณฑ์และแนวทางการพิจารณากลั่นกรองการจัดทำหนังสือที่ระลึก เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานรัฐ เอกชน องค์กร มูลนิธิ สมาคม ชมรม หรือ บริษัท/ห้าง/ร้าน ที่มีความประสงค์จะร่วมจัดทำหนังสือที่ระลึกฯ แจ้งความประสงค์ พร้อมแบบสรุปการขอจัดทำหนังสือที่ระลึกฯ มายังฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกฯ เพื่อผ่านการกลั่นกรองและพิจารณในการอนุญาต
 

วาง 4 หลักเกณฑ์ ทำ "หนังสือที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ" เปิดให้รัฐ-เอกชนยื่นคำขอภายใน 22 เม.ย. นี้
 

ขณะนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกฯ ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์และแนวทางการพิจารณากลั่นกรองการจัดทำหนังสือที่ระลึก เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยมีกรอบการดำเนินงานและข้อกำหนดที่หน่วยงานรัฐ เอกชน องค์กร มูลนิธิ สมาคม ชมรม หรือ บริษัท/ห้าง/ร้าน ที่มีความประสงค์จะร่วมจัดทำหนังสือที่ระลึกฯ ต้องแจ้ง ดังนี้

1.วัตถุประสงค์การจัดทำหนังสือที่ระลึกเพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก และเพื่อเป็นการน้อมนำพระราชปณิธาน พระราชดำริ พระบรมราโชวาท พระราชกรณียกิจ หรือ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการบำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้แก่ประชาชน และพัฒนาประเทศชาติให้เจริญหน้า

2.ลักษณะเนื้อหา ต้องเกี่ยวข้องด้วยพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือ เป็นหนังสือเก่าที่มีคุณค่าหายาก หรือ หนังสือกวีนิพนธ์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งควรแต่งด้วยคำประพันธ์ชั้นสูงอย่างถูกต้องตามหลักฉันทลักษณ์

3.ลักษณะการพิมพ์ มีการกำหนดชื่อหนังสือ แบบปก ภาพประกอบ ต้องเหมาะสมกับการเฉลิมพระเกียรติ ต้องไม่เป็นไปเพื่อการประชาสัมพันธ์องค์กร หรือ ผู้สนับสนุนการพิมพ์ ส่วนขนาดและจำนวนพิมพ์ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหน่วยงานเจ้าของหนังสือ โดยงบประมาณจัดทำหนังสือต้องเป็นงบประมาณของหน่วยงานเจ้าของหนังสือ หรือ จากการสนับสนุนของหน่วยงานอื่น ๆ และต้องจัดทำหนังสือให้แล้วเสร็จ ภายในเดือน พ.ค. 2563 หรือ อาจแล้วเสร็จหลังเดือน พ.ค. 2563 หากมีความจำเป็น โดยให้แจ้งเหตุผลประกอบต่อสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร

4.การเผยแพร่ หน่วยงานเจ้าของหนังสือต้องเป็นผู้แจกจ่ายเผยแพร่และห้ามจำหน่าย รวมทั้งต้องส่งมอบหนังสือที่จัดทำให้แก่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ไม่น้อยกว่า 10 เล่ม/ชุดต่อเรื่อง

 

วาง 4 หลักเกณฑ์ ทำ "หนังสือที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ" เปิดให้รัฐ-เอกชนยื่นคำขอภายใน 22 เม.ย. นี้

 

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานรัฐ เอกชน องค์กร มูลนิธิ สมาคม ชมรม หรือ บริษัท/ห้าง/ร้านที่มีความประสงค์ จะร่วมจัดทำหนังสือที่ระลึกฯ ต้องทำหนังสือแจ้งความประสงค์ พร้อมแบบสรุปการขอจัดทำหนังสือที่ระลึกฯ ส่งมายังฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ถนนสามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต 10300 โทร. 02-281-1599 ต่อ 142-145 โทรสาร 02-281-5341, 02-282-3826 หรือ สามารถดูรายละเอียดหลักเกณฑ์และดาวน์โหลดแบบสรุปการขอจัดทำหนังสือที่ระลึกฯ ได้ที่เว็บไซต์กรมศิลปากรที่ www.finearts.go.th และเว็บไซด์ของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ www.nat.go.th ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2562 และต้องส่งคำขอจัดทำหนังสือที่ระลึก ภายในวันที่ 22 เม.ย. 2562

ทั้งนี้ การเสนอขอจัดทำหนังสือที่ระลึกฯ ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐจะต้องผ่านการพิจารณาและกลั่นกรองจากหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม หรือ เทียบเท่าขึ้นไป ส่วนหน่วยงานภาคเอกชนจะต้องผ่านการพิจารณาและกลั่นกรองจากหัวหน้าหน่วยงาน/องค์กร นอกจากนี้ หนังสือที่ระลึกฯ ที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว หากหน่วยงานเจ้าของหนังสือประสงค์จะนำตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกไปใช้พิมพ์ในหนังสือให้แจ้งขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ฯ ไปยังคณะอนุกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล