5 โครงการอีอีซี ชง ครม. เคาะ เม.ย. ยัน! 'อู่ตะเภา' รัฐต้องได้ขั้นต่ำ 5.9 หมื่นล้าน

25 มี.ค. 2562 | 12:47 น.

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทางอีอีซีกำลังเร่งสรุปการประมูลโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ทั้ง 5 โครงการ ให้ได้ผู้ชนะภายในเดือน เม.ย. 2562 นี้ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและนำไปสู่การลงนามกับเอกชนที่ชนะประมูลต่อไป โดยในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น คาดว่า อีก 2 สัปดาห์ น่าจะได้ข้อยุติ เนื่องจากกลุ่มซีพีขอเวลาหารือกับพันธมิตรด้านการเงิน 2 ราย ได้แก่ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิค) และธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน ที่จะขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงมา เพื่อลดความเสี่ยงด้านการลงทุน

ขณะที่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าโครงการ 2.9 แสนล้านบาทนั้น เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา มีการเข้ามายื่นข้อเสนอ ซึ่งข้อเสนอทั้ง 4 ซอง จะประเมินผลแล้วเสร็จในเดือน เม.ย. นี้

 

5 โครงการอีอีซี ชง ครม. เคาะ เม.ย. ยัน! 'อู่ตะเภา' รัฐต้องได้ขั้นต่ำ 5.9 หมื่นล้าน
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)

 

ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา หรือ เอ็มอาร์โอ ที่เป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กับบริษัท แอร์บัสฯ นั้น อยู่ระหว่างจัดทำร่างสัญญาฉบับสุดท้าย เพื่อลงนามความร่วมมือกับแอร์บัส และจะนำเสนอ ครม. ได้ในเดือน เม.ย. นี้เช่นกัน รวมถึงโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 กำลังเข้าสู่การเจรจาซองที่ 4 คาดว่าจะได้ข้อยุติในเดือน เม.ย. นี้ รวมถึงโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่จะยื่นข้อเสนอในวันที่ 29 มี.ค. นี้ด้วย

"โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่มีความล่าช้า เนื่องจากเป็นการลงทุนของภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ต้องพิจารณาในผลตอบแทนอย่างรอบคอบ ผิดกับอีก 4 โครงการ ที่เป็นการลงทุนของภาคเอกชน จะต้องเสนอผลตอบแทนภาครัฐในอัตราที่สูงที่สุด ถึงจะเป็นผู้ชนะ อย่าง โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ผู้ที่ชนะต้องเสนอผลตอบแทนรัฐไม่น้อยกว่า 5.9 หมื่นล้านบาท เป็นต้น ทำให้พิจารณาได้เร็วกว่า"


5 โครงการอีอีซี ชง ครม. เคาะ เม.ย. ยัน! 'อู่ตะเภา' รัฐต้องได้ขั้นต่ำ 5.9 หมื่นล้าน

 

นายคณิศ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีความกังวลว่า ช่วงรอยต่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะทำให้การขับเคลื่อนอีอีซีเกิดการสะดุดนั้น โดยในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ รัฐบาลชุดนี้ยังสามารถมีอำนาจเต็มในการบริหารงานต่อไปได้ จนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วเสร็จ ดังนั้น ระยะเวลาที่เหลืออยู่มีเพียงพอที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบทั้ง 5 โครงการ และลงนามในสัญญาได้ อีกทั้งมี พ.ร.บ.อีอีซี รองรับการดำเนินงานของคณะกรรมการอีอีซี มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าพรรคไหนจะเข้ามาบริหารประเทศ อยากให้มองผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้งมากกว่า เพราะจากการลงทุน 5 โครงการ เงินลงทุนรวม 6.5 แสนล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้า รัฐจะได้ผลตอบแทนจากโครงการราว 4.5 แสนล้านบาท มีรายได้เข้าสู่คลังไปพัฒนาประเทศในด้านอื่น ๆ อีกไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท และเกิดการลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย อีก 5 แสนล้านบาท จะสร้างงานใหม่ไม่น้อยกว่า 450,000 ตำแหน่ง

 

……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,455 วันที่ 24 - 27 มี.ค. 2562 หน้า 15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลใน "สนามบินอู่ตะเภา"
3 บิ๊กทุนชิง 'อู่ตะเภา' ... 'หมอเสริฐ' ผนึก 'บีทีเอส' ชน 'ซีพี' ... 'ไทยแอร์เอเชีย' จับมือ 4 พันธมิตรสู้