นักวิชาการจุฬาฯ แนะ 5 โจทย์ พัฒนา "นวัตกรรมขนส่ง"

07 มี.ค. 2562 | 09:04 น.

"สะดวก รวดเร็ว ประหยัด ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" โจทย์หลักการสร้าง Smart Public Transportation for All : นวัตกรรมขนส่งมวลชนอัจฉริยะเพื่อทุกคน
 

รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์

รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์


รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายพิเศษหัวข้อ "Smart Public Transportation for All : นวัตกรรมขนส่งมวลชนอัจฉริยะเพื่อทุกคน" ในงานสัมนา "พลิกโฉมไทย เปิดประตูสู่เศรษฐกิจนวัตกรรม" จัดโดย "หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ" เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2562 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติแนนตัล ว่า ต้องไปดูที่โจทย์การขนส่ง ที่ประเทศไทยยังติดปัญหาการจราจร การเชื่อมโยง ที่ยังขาดทั้งความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด แนวทางการแก้ไขที่เหมาะสม ที่ควรทำ คือ การปรับปรุงรถเมล์ รวมทั้งระบบขนส่งมวลชนให้มีความน่าใช้

การสร้างถนนเพิ่ม ไม่ถือเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะดูตัวอย่างจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีการสร้างถนนเพิ่ม ปริมาณรถก็ยังเยอะและติดขัดเช่นเดิม

ขณะนี้ ถือเป็นมิติที่ดี ที่ภาครัฐและภาควิชาการมองโจทย์คล้ายกัน สิ่งที่ต้องทำ คือ การสร้างการเดินทางที่ชาญฉลาด หรือ Smart Mobility เป็นการเดินทางที่เชื่อมต่อกันได้ ทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ผ่านการเดินทางหลากหลายรูปแบบ ไร้รอยต่อ และมีประสิทธิภาพ

ตอนนี้ประเทศไทยกำลังจะมีรถไฟฟ้า 11 สาย รวม 452 กิโลเมตร ขณะที่ กทม. มีพื้นที่ 1,600 ตารางกิโลเมตร ก็ต้องมาพิจารณาดูกันว่า จะสามารถแก้ไขปัญหารถติดได้หรือไม่ ซึ่งต้องเข้าไปดูถึงระบบขนส่งมวลชนที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ พร้อมการสร้างระบบป้อน (Feeder) ให้สอดคล้อง


เริ่มจากการส่งเสริมการเดินทางในเมืองด้วยระบบขนส่งมวลชน เพื่อทดแทนการใช้รถส่วนบุคคลให้น้อยลง โจทย์หลักที่ต้องแก้ไข 5 ประการ คือ 1) ความสะดวก การเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนต้องสะดวก, 2) รวดเร็ว ต้องทำให้รถเมล์ไม่ต้องติดอยู่กับการจราจร เช่น การทำบัสเลน, 3) ประหยัด, 4) ปลอดภัย เรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็น และระบบขนส่งทุกระบบควรต้องมีเป็นพื้นฐาน และ 5) เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนการสร้างระบบขนส่ง

ปัญหารถติดจะไม่สามารถแก้ไขได้ ถ้ายังให้ความสำคัญกับรถยนต์ส่วนบุคคลมากกว่ารถสาธารณะ พื้นที่ถนนถือเป็นสิ่งที่มีค่า การแก้ปัญหา ประเทศไทยควรมีการกำหนดเส้นทางเดินรถจากความต้องการของประชาชน ว่า ต้องการเดินทางจากไหนไปไหน บวกกับแผนพัฒนาเส้นเลือดใหญ่ คือ รถไฟฟ้า

ยกตัวอย่าง "เกาหลีใต้" ที่แบ่งรถเมล์เป็นสีต่าง ๆ เช่น สีฟ้า วิ่งเข้าเมือง, สีเขียว คือ สายป้อน, สีแดง คือ ทางด่วน ส่วนสีเหลืองวิ่งเป็นวงกลมผ่านพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ พร้อมทั้งจัดทำบัสเลน ทำให้รถเมล์สามารถรองรับความต้องการของประชาชนได้ครอบคลุมและสะดวกรวดเร็ว

ส่วนการนำเทคโนโลยีเข้าในใช้ ขณะนี้ ประเทศไทยเริ่มติดตั้งระบบจีพีเอส ซึ่งหากนำมาใช้ให้ถูกต้อง เช่น เมื่อถึงไฟแดง รถเมล์มีสิทธิได้ออกตัวก่อน หรือ การพัฒนาใช้งานผ่านแอพพลิเคชัน ทำให้สามารถตรวจสอบดูได้เลย ว่า อีกกี่นาทีรถเมล์จะมาถึง ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการรอคอย ซึ่งขณะนี้ ในกรุงเทพฯ เริ่มมีใช้แล้วบางส่วน

นอกจากนี้ เรื่องของระบบบัตรโดยสารร่วม ระบบขนส่งทางเลือก อาทิ แกร็บ อูเบอร์ และอื่น ๆ ควรมีการปรับแก้ไขให้สามารถให้บริการได้แบบถูกกฎหมาย สิ่งเหล่านี้ต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง เพื่อนำไปสู่แผนการพัฒนาระบบการขนส่งให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน

090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503