เปิดเบื้องหลัง กกต. เคาะ 24 มี.ค. หย่อนบัตรเลือกตั้ง

23 ม.ค. 2562 | 11:23 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ประธาน กกต. แจงยิบเหตุเคาะ 24 มี.ค. เป็นวันเลือกตั้ง ชี้! หากหย่อนบัตร 10 มี.ค. ไม่เหมาะ-กระชั้นเกินไป เหลือเวลาหาเสียงน้อยแค่ 46 วัน เตือนติดป้ายหาเสียงตอนนี้ผิดกฎหมาย

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการร กกต. ว่า ขณะนี้ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป มีผลบังคับใช้แล้ว กกต. จึงประชุมและมีมติเสียงข้างมากกำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 24 มี.ค. เป็นวันเลือกตั้ง และในวันที่ 28 ม.ค. - 19 ก.พ. เป็นวันเปิดให้ผู้ที่ประสงค์จะใช้สิทธิล่วงหน้าในและนอกเขตเลือกตั้ง รวมถึงการใช้สิทธินอกราชอาณาจักรได้ลงทะเบียน โดยสามารถยื่นคำขอผ่านนายทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนท้องถิ่น สถานเอกอัครราชทูต ผ่านช่องทางไปรษณีย์ หรือ อินเตอร์เน็ต

วันที่ 4-8 ก.พ. เป็นวันรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ พร้อมบัญชีผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี โดยแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตจะเป็นผู้ประกาศกำหนดภายใน 3 วัน ภายหลัง กกต. ประกาศวันเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา หรือ ในวันพรุ่งนี้ (24 ม.ค.)


อิทธิพร บุญประคอง3

ส่วนสถานที่รับสมัครแบบบัญชีรายชื่อให้ยื่นได้ที่สำนักงาน กกต. จากนั้นในวันที่ 4-16 มี.ค. จะเป็นวันออกเสียงเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร วันที่ 17 มี.ค. เป็นวันออกเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าในและนอกเขตจังหวัด รวมถึงการออกเสียงเลือกตั้งในสถานเลือกตั้งกลางของผู้ทุพลภาพและผู้สูงอายุ

นายอิทธิพร กล่าวถึงเหตุผลในการกำหนดวันที่ 24 มี.ค. เป็นวันเลือกตั้ง ว่า กกต. มองทุกปัจจัยที่จะเกิดขึ้นหลังมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง โดยเฉพาะการต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า การหาเสียง ซึ่งเดิมกำหนดระยะเวลาไว้ 52 วัน ก็อยากให้ประโยชน์ตกแก่ประชาชนและพรรคการเมือง เพราะถ้าจะเลือกวันที่ 10 มี.ค. ก็จะกระชั้นเกินไป อีกทั้งการกำหนดวันที่ 24 มี.ค. ยังทำให้พรรคการเมืองที่ยังตั้งสาขาและตัวแทนประจำจังหวัดไม่ครบ มีเวลาดำเนินการเท่ากัน ได้ผ่อนคลายได้มากกว่าวันอื่น ๆ

ส่วนการตีความกรอบเวลา 150 วัน รวมถึงการประกาศรับรองผลเลือกตั้งนั้น ประธาน กกต. กล่าวว่า กกต. เคยคุยกันแล้ว ถ้ามีความจำเป็น กกต. ต้องคุยกันและมีมติที่ชัดเจน แต่ขณะนี้ เรามุ่งเน้นในเรื่องเตรียมการเลือกตั้งให้เรียบร้อยและประกาศผลให้เร็ว แม้กฎหมายจะกำหนดให้ประกาศรับรองผลภายใน 60 วัน แต่ถ้าทำได้ การเลือกตั้งเรียบร้อยก็ประกาศผลได้ก่อน ไม่จำเป็นต้องรอถึง 60 วัน

เมื่อถามว่า กรณีว่าที่ผู้สมัครติดป้ายหาเสียงก่อนมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง สามารถทำได้หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ไม่ควรจะติด เพราะยังไม่ใช่เวลา ตอนนี้ยังติดไม่ได้ เพราะ กกต. ต้องหาสถานที่สำหรับติดป้ายหาเสียงก่อน ดังนั้น การติดป้ายก่อนจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมของ กกต. ที่ประชุมได้พิจารณาความเหมาะสมของการกำหนดวันเลือกตั้ง โดยมีการเสนอวันที่เหมาะสม 2 วัน คือ วันที่ 10 มี.ค. และ 24 มี.ค. แต่เสียงข้างมากเห็นว่า หากกำหนดให้เลือกตั้งในวันที่ 10 มี.ค. แม้มีข้อดีว่า ระยะเวลาการประกาศรับรองผล 60 วัน จะพอดีกับวันที่ 9 พ.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของกรอบเวลา 150 วัน แต่ระยะเวลาโดยรวมของการจัดการและการหาเสียงเพียง 46 วัน จะฉุกละหุกโดยในสัปดาห์หน้า กกต. ต้องเปิดรับสมัคร จึงเห็นว่า ควรจะเลือกวันที่ 24 มี.ค. ซึ่งจะมีเวลาในการจัดการและให้พรรคการเมืองหาเสียงได้มากขึ้น รวม 60 วัน เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ติดตามฐาน