ท่านผู้ว่าการฯ ป๋วย "การลาออกจากตำแหน่ง"

14 มี.ค. 2559 | 07:58 น.
ในช่วงที่ ดร.ป๋วยอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารชาติ  ดร.ป๋วยได้ปรารภกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่จะลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการหลายครั้ง เพราะจิตมุ่งมั่นที่จะอุทิศตนให้กับงานด้านการศึกษา แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ได้ทัดทานไว้ การขอลาออกดังกล่าวทำให้เกิดกระแสข่าวลือเป็นระยะๆ ว่า ดร.ป๋วยลาออกจากธนาคารแล้ว

ข่าวลือครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2507 ซึ่ง ดร.ป๋วยได้แถลงความจริงเรื่องนี้แก่สื่อมวลชน ดังนี้

1.       ผมยังมิได้ยื่นใบลาออกเป็นทางการ เพียงแต่นำความเรียนท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นการภายใน ปรารภว่า ผมใคร่จะขอลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารชาติ ได้เรียนปฏิบัติต่อท่านนายกรัฐมนตรีสองครั้ง ครั้งแรก ในราวมิถุนายนหรือกรกฎาคม เมื่อได้ทราบข่าวมาว่าจะได้รับแต่งตั้งเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งที่สองเมื่อ 21 กันยายนศกนี้เมื่อสภามหาวิทยาลัยได้ลงมติแต่งตั้งแล้ว (ดร.ป๋วยแถลงปฏิเสธการลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารชาติเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2507)

2.       มีข่าวลือถึงสาเหตุที่ผมใคร่จะลาออก และข่าวลือบางข่าวก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง และอาจจะเป็นที่เสื่อมเสียแก่ราชการ จึงขอเสนอแก้ไว้ดังนี้

(ก)   ลืมว่าผมลาออกเพราะนโยบายขัดกับรัฐบาล ข้อนี้ไม่เป็นความจริง การเสนอความเห็นต่อรัฐบาลทั้งในฐานส่วนตัวและในหน้าที่ราชการตำแหน่งต่างๆนั้น ก็เคยขัดแย้งกับนโยบายรัฐบาลมาหลายครั้ง ตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาแล้ว และในระยะนี้ก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษนอกเหนือไปจากที่เคย ผมเคารพนับถือในความดีของนายกรัฐมนตรีปัจจุบัน และยังไม่เคยมีอะไรขัดแย้งในหลักการที่สำคัญ อนึ่ง ถ้าผู้ว่าการธนาคารชาติมีหลักการขัดแย้งกับรัฐบาลในนโยบายที่สำคัญ การลาออกของผู้ว่าการนั้น ย่อมพึ่งเป็นการลาออกในลักษณะคัดค้าน ถ้าเป็นเช่นนี้จริง ผมต้องถือเป็นหน้าที่ที่จะแสดงเหตุผลคัดค้านให้ประจักษ์แก่มหาชน จะลาออกเงียบๆ ไม่ได้ เพราะไม่ถูกลักษณะการลาออกเพื่อคัดค้าน

(ข)   ลือว่าผมลาออกเพราะขัดกับรัฐมนตรีว่าการคลัง ข้อนี้ก็ไม่จริงอีก ผมเคยกล่าวในสุนทรพจน์ไว้เมื่อปี 2503 มีใจความดังนี้ : “.....ผมรู้สึกขอบคุณฯพณฯนายกรัฐมนตรีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เลือกสรรแต่ตั้ง คุณสุนทร หงส์ลดารมภ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะในการร่วมงานและประสานกับราชการทุกๆ ส่วนที่เป็นมา การปฏิบัติราชการร่วมกับท่านรัฐมนตรีทำให้ผมรู้สึกปลอดโปร่งใจ ไม่ต้องห่วงหน้าห่วงหลัง กลับถึงบ้านนอนก็ตาหลับ...ผมใคร่จะเสนอว่า ในนโยบายและหลักการภาษีอากรที่เป็นมานี้ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับผมมีความเห็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน......” ข้อความนี้ยังเป็นความจริงตราบทุกวันนี้

(ค)   ลือว่าผมลาออกเพราะไม่สามารถทนดูความเหลวแหลกเนื่องมาจากกรณีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอปฏิเสธว่าไม่เคยคำนึงถึงข้อนี้ เพราะตามความคิดความเห็นของผม ถ้ามีเหตุเหลวแหลกให้แก้ ผมต้องดำรงตำแหน่งเพื่อแก้ ถ้ายิ่งมีปัญหามากก็ยิ่งจะต้องเผชิญปัญหานั้นๆ ให้ลุล่วงไป จะหลบหนีไปหาชอบไม่

นอกจากนี้ ยังมีข่าวลือถึงสาเหตุอื่นอีกหลายประการ ซึ่งไม่สู้สำคัญนัก เพราะไม่เกี่ยวกับความเชื่อมั่นและเชื่อถือในเศรษฐภาวะแห่งประชาชาติไทย ถึงไม่เป็นความจริง ก็จะไม่ขอนำมากล่าวแก้ ณ ที่นี้

3.       สาเหตุอันแท้จริงในนการปรารภจะลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารชาติ คือ

(ก)   ผมมีหน้าที่ราชการอยู่มากแล้ว เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะบดีเพิ่มขึ้น ผมก็ควรจะพิจารณาดูว่า จะปฏิบัติราชการได้ดีพอหรือไม่

(ข)   ผมใคร่จะปฏิบัติงานในตำแหน่งคณะบดีให้สุดความสามารถจะขยายความในข้อต่อไป

4.       ขณะนี้ นอกจากเป็นผู้ว่าการธนาคารชาติแล้ว ผมยังเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในกระทรวงการคลัง กรรมการบริหารสภาพัฒนาการเศรษฐกิจฯ เป็นกรรมการ อนุกรรมการหรือที่ปรึกษาอีกหลายคณะ เช่น กรรมการระดับนโยบาย, ก.ต.ภ.,  ประมวลรัษฎากร, พิกัดอัตราศุลกากร, ส่งเสริมการลงทุน, แผนการศึกษา, ถนนในพระนครและธนบุรี, อาคารสงเคราะห์และพัฒนาเมือง, ประกันสังคม, วางแผนงานไฟฟ้า, สินเชื่อเกษตร,สภาวิจัย สาขาเศรษฐศาสตร์, กรรมการข่าวกรองภาความมั่นคง เป็นต้น

นอกจากนั้นยังเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจอีก 2 แห่ง ทั้งนี้ ยังมิได้กล่าวถึงเรื่องสอบสวนทรัพย์สินของรัฐฯ กรรมาธิการ งบประมาณ, สภากาชาดไทย และสาธารณกุศลและสาธารณประโยชน์อื่นๆ อีกหลายอย่าง บางตำแหน่งก็ดำรงในฐานผู้ว่าการ บางตำแหน่งในฐานผู้อำนวยการ บางตำแหน่งในฐานกรรมการบริหาร บางตำแหน่งเป็นการแต่งตั้งเฉพาะตัว

ภาระปัจจุบันก่อนได้เป็นคณะบดีก็หนักอยู่มากแล้ว ถ้าจะรับเป็นคณบดีด้วย คาดหมายได้แน่ๆ ว่า จะต้องบกพร่องไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

5.       ผมเห็นว่าการศึกษาของชาติเป็นเรื่องสำคัญยิ่งเรื่องหนึ่ง และหวังว่าจะได้ทำประโยชน์แก่นักศึกษาตลอดจนวงการศึกษาทั่วไปด้วย ใคร่จะได้เห็นประชาชาติไทยและรัฐบาลถือการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ มิใช่เรื่องสมัครเล่นหรือเรื่องที่จะ “เจียดเวลา” มาทำได้ ประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้าดีมิได้ ถ้าเราทอดทิ้งการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และวิชาชีพแขนงต่างๆ หรือถือว่ามีความสำคัญชั้นรอง ฉะนั้น เมื่อได้รับเกียรติจากสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมีใจรักอยู่แล้ว ก็ใคร่จะปฏิบัติงานเป็นเรื่องจริงขึ้น จะต้องมีเวลาควบคุมหลักสูตร หารือกับอาจารย์ พบปะกับนักศึกษา ดำเนินการพัฒนาริเริ่มหลายประการ เฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมและอำนวยการวิจัย ทั้งนี้ จะต้องใช้เวลาและสติปัญญาเป็นอันมาก

6.       การที่ตัดสินใจว่า จะต้องสละตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารชาติไปนั้น ก็มิได้กระทำโดยปัจจุบันทันด่วน ได้คิดทบทวนแล้วหลายครั้ง เพราะงานธนาคารชาติก็เป็นงานสำคัญ และมีใจรักเช่นเดียวกัน แต่มาเห็นว่า แม้ว่าผมจะสละตำแหน่งอื่น รักษาตำแหน่งทางธนาคารชาติไว้ ก็ไม่แก้ปัญหาเรื่องเวลาได้เพียงพอ อนึ่งธนาคารชาติเป็นปึกแผ่นแล้ว มีเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่และผู้น้อยที่มีความสามารถดำเนินการโดยดี ถ้ารัฐบาลคัดเลือกผู้ที่มีความสัตย์สุจริตและความกล้าหาญมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการได้ ก็ไม่ต้องห่วงนัก ส่วนด้านคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น มีศาสตราจารย์ประจำ 1 ท่าน มีอาจารย์ประจำเพียง 3 ท่าน (ไปเรียนต่างประเทศเสีย 1 ท่าน) มีปัญหาอีกมาก และไม่สู้จะมีผู้สนใจส่งเสริมพัฒนาปรับปรุงให้ก้าวหน้าจริงๆ จึงได้ตัดสินใจว่า เมื่อตนได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลให้มีหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่แล้ว ก็ควรจะปฏิบัติตนให้สมกับที่เป็นผู้ใหญ่ และหวังว่าจะได้รับความสนับสนุนจากปัญญาชนทุกฝ่าย ให้ดำเนินการไปได้ตามความมุ่งหมาย

7.       ท่านนายกรัฐมนตรีและท่านรัฐมนตรีว่าการคลังเข้าใจดีในเจตนาของผม และผมเข้าใจว่าท่านเห็นชอบด้วย แต่ท่านยังเป็นห่วงในด้านนโยบายการเงินในระยะนี้ จึงเป็นอันตกลงว่าให้ผมครองตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารชาติไปพลางก่อน และจะพิจารณาเด็ดชาดไปในปลายปีนี้ ซึ่งผมก็ขอถือโอกาสแสดงความขอบพระคุณในเกียรติและเมตตาจิตที่ท่านได้ให้มา ณ ที่นี้ด้วย

ต่อมากลางปี 2514 ก็มีข่าวลือแพร่สะพัดว่า ดร.ป๋วยจะลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและคณะบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อเล่นการเมืองซึ่ง ดร.ป๋วยได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2514 ดังนี้

เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด ผมขอความกรุณาเรียนชี้แจงดังนี้

1.       ผมรับเชิญไปสอนและวิจัยทางเศรษฐศาสตร์และการศึกษาโดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปี และจะออกเดินทางไปในปลายเดือนสิงหาคมศกนี้ ในฐานเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกับเป็นข้าราชการประจำ ผมได้เรียนท่านนายกรัฐมนตรีทราบเรื่องแล้วตั้งแต่ปี 2513 เรื่องนี้ยังเป็นไปตามกำหนดเดิม

2.       ผมได้เคยขอลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2513 ขณะนี้ก็ยังเห็นว่าตนควรจะลาออกจากตำแหน่งนี้ เพราะได้ครองตำแหน่งมาถึง 12 ปีเศษ และควรจะอุทิศเวลาให้แก่งานทางด้านการศึกษาได้มากขึ้น

3.       ผมไม่เคยคิดว่าจะลาออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

4.       ผมเห็นว่าผมจะรับใช้ประเทศชาติในฐานข้าราชการประจำหรือฐานอาจารย์ได้ดีกว่าในฐานอื่นใด จึงได้เรียนท่านที่เคารพและเพื่อนฝูงไว้ว่า ตราบใดที่ผมยังไม่พ้นเกษียณอายุราชการไป ผมจะไม่ขอรับตำแหน่งการเมืองเลย ความตั้งใจนี้ยังมั่นคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

จากนั้นมาเพียง 1 เดือน ดร.ป๋วยก็ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ 15 สิงหาคม 2514 เพื่ออุทิศตนในการพัฒนาด้านการศึกษาได้อย่างเต็มที่ให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังที่ได้ตั้งใจไว้ และผู้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ก็คือ นายพิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ ซึ่งเป็นลูกหม้อของธนาคารแห่งประเทศไทยนั่นเอง

เรื่องราวเหล่านี้ ผม “คัดลอก” ข้อความมาจากหนังสือ “ท่านผู้ว่าการป๋วย”  ธนาคารแห่งประเทศไทย 4 พฤศจิกายน 2542  เพื่อร่วมสดุดี “ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ในโอกาสที่องค์การยูเนสโกได้มีมติให้ประกาศยกย่องให้ท่านเป็นบุคคลสำคัญของไทย ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านการศึกษา สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ และฉลองครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ในวันที่ 9 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ครับ