เบื้องหลังคุม ร.พ.เอกชน "ค่ายา-บริการแพง" กระทบทุกหย่อมหญ้า

29 ม.ค. 2562 | 11:09 น.
การออกมาคัดค้านของ "กลุ่มสมาคมโรงพยาบาลเอกชน" กรณีที่รัฐจะนำเวชภัณฑ์และบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล เป็น 2 ใน 52 รายการสินค้าและบริการควบคุม ประจำปี 2562 เพราะหากเมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติให้ความเห็นชอบในเรื่องนี้แล้ว สถานพยาบาลเอกชนจะต้องถูกกำหนดราคาสินค้าและบริการและอัตรากำไรสูงสุดต่อหน่วย ให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภคมากขึ้น จะส่งผลให้ธุรกิจที่เคยมีรายได้และกำไรมหาศาลในแต่ละปีต้องเสียผลประโยชน์

 

[caption id="attachment_377825" align="aligncenter" width="503"] วิชัย โภชนกิจ วิชัย โภชนกิจ[/caption]

➣ เหตุต้องคุมค่ายา-ค่าบริการ

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. ซึ่งเป็นต้นทางของเรื่องนี้ เผยในการให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ถึงที่มาที่ไปเรื่องนี้ ว่า เป็นผลจากที่ผ่านมามีการร้องเรียนของประชาชนมายังกรมการค้าภายในจำนวนมาก ในเรื่องการคิดค่าบริการ ค่ายา ค่าแพทย์ บางอย่างคิดโดยหาหลักฐานไม่เจอ ไม่มีการบอกที่ไปที่มาของค่าบริการ ซึ่งรวมยอดค่าใช้จ่ายแล้ว 2-3 แสนบาท ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนไม่มีการแยกรายละเอียดค่ารักษาต่าง ๆ ออกมาให้ชัดเจน ว่า ค่าอะไรบ้าง เช่น ค่าโรงพยาบาลเท่าไร ค่ายาเท่าไหร่ บางโรงพยาบาลมีการแยกรายละเอียดจริง แต่เป็นการแยกรายละเอียดที่ไม่มีฐานการพิจารณา ว่า ราคาหรือบริการที่ใช้มีเกณฑ์หรือมีต้นทุนที่มาที่ไปอย่างไร คือ อยากจะตั้งราคาเท่าไหร่ก็ได้ เช่น ค่าห้องคืนละ 9,000 หรือ 10,000 บาท โดยไม่มีที่มาที่ไป ว่า ทำไมคิดราคาแบบนั้น เป็นต้น

"จากที่โรงพยาบาลเอกชนคิดราคาสูง ๆ ทำให้คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีกำลังก็พุ่งมาที่โรงพยาบาลของรัฐ และแบกภาระแทบจะไม่ไหวในปัจจุบัน เพราะมีลูกค้าคนชั้นกลางถึงล่างเข้าไปใช้บริการมาก และรองรับได้ไม่เพียงพอ"

ประกอบกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย ได้สะท้อนปัญหานี้ออกมา เพราะสมาคมเหล่านี้ต้องรับภาระในการซื้อประกันให้กับลูกค้า โดยที่คิดแพงขึ้นด้วย และลูกค้าจำเป็นต้องไปจ่าย ทำให้สวัสดิการคุ้มครองตัวเองน้อยลง เพราะว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นที่มาที่เรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ต้องนำเอาค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ มาควบคุม ไม่ได้อยู่ดี ๆ แล้วเร่งรีบทำ เพราะรู้อยู่แล้วว่าเป็นเรื่องค่อนข้างซับซ้อนและมีผู้เกี่ยวข้องมาก

ที่ผ่านมา มีการเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหารือ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงสาธารณสุขมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ถึง 4 ครั้ง เพื่อหาแนวทางร่วมกันว่าจะกำหนดหรือจัดบรรทัดฐานกรอบในการดำเนินการในเรื่องโรงพยาบาลอย่างไร


บาร์ไลน์ฐาน

➣ จี้กำหนดราคาที่ชัดเจน

ส่วนกระทรวงสาธารณสุขได้มีการกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องแสดงค่าบริการอะไรบ้าง แต่ทราบภายหลังว่า การกำหนดนั้นเป็นการกำหนดแบบ "เหมาจ่าย" ไม่ได้มีการแยกรายละเอียดออกมาว่าเป็นค่าอะไรบ้าง กระทรวงพาณิชย์จึงต้องเข้ามาดู ว่า จะมีการกำหนดฐานราคาได้หรือไม่ เช่น ให้แสดงที่มาของราคาว่ามีต้นทุนเท่าใด และบวกกำไรเท่าไหร่ กี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีทางเลือก แต่ทั้งนี้ ไม่ได้บังคับว่าโรงพยาบาลจะต้องขายหรือให้บริการในราคาที่กระทรวงกำหนด เพียงแต่เป็นการกำหนดไว้เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภค เพราะพิสูจน์ได้จากที่นายกสภาวิชาชีพแพทย์ได้ออกมาพูดว่า โรงพยาบาลคิดค่ายาเพิ่มขึ้น 200-300% ซึ่งตรงนี้พูดได้เลยว่า เป็นการสร้างความลำบากให้กับผู้ป่วยมากเกินไป

"แม้แต่การสั่งยาของแพทย์เอง ไม่บอกว่าเป็นยาอะไร แต่ใส่มาเป็นรหัสที่แพทย์และเจ้าหน้าที่จ่ายยาทราบเท่านั้น ดังนั้น ใบสั่งยาของหมอไม่มีทางไปซื้อข้างนอกได้ เพราะผู้บริโภคเองอยู่ในภาวะจำยอมไม่มีทางเลือกอื่น ยาหรือเวชภัณฑ์ต้องซื้อจากโรงพยาบาล ซึ่งทางโรงพยาบาลไม่ควรหากำไรจากค่ายา ควรหากำไรจากค่าพยาบาล ค่าการแพทย์มากกว่า ยาควรคิดในอัตราที่แน่นอนพอสมควร


➣ ยํ้า! เดินหน้าต่อ

นายวิชัยยํ้าว่า กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อ หากเมินเฉยจะกลายเป็นว่าทิ้งภาระเหล่านั้นให้กับผู้ป่วยโดยไม่เข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งแนวทางที่ออกมาอาจจะมีหลายแนวทาง ไม่ได้หมายความว่าจะมีการคุมราคาเพียงอย่างเดียว เช่น อาจจะเพิ่มช่องทางให้กับผู้บริโภคได้มีโอกาสเลือกว่าจะซื้อยาหรือเวชภัณฑ์จากข้างนอกหรือในโรงพยาบาล ซึ่งจะเป็นการสร้างอำนาจการต่อรองกับโรงพยาบาลได้

"ทุกธุรกิจมีทางเลือก แต่ชาวบ้านมีทางเลือกไม่มาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยไม่มีสิทธิเลือกเมื่อกำลังจะตายหรือมีเหตุฉุกเฉิน ก็ต้องเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด สะดวกที่สุดก่อน บางเรื่องอาจจะเป็นทางเลือกได้ แต่กรณีของโรงพยาบาลไม่ใช่ทางเลือก 100% ต้องเอาเรื่องจริงมาพูดกัน"

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,438 วันที่  24 - 26 มกราคม พ.ศ. 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว