ชี้ "เศรษฐกิจโลก" เสี่ยงถดถอย! 'ศุภชัย' ห่วงวิกฤติการเงิน

25 ธ.ค. 2561 | 11:06 น.
251261-1741

'ศุภชัย' ชี้เศรษฐกิจโลก ปี 62 เสี่ยงถดถอย ดอกเบี้ยระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว ก่อวิกฤติการเงินรอบใหม่ ติวเข้มว่าที่รัฐบาลใหม่เร่งดึงทุนไฮเทคจากจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ลงอีอีซี เพิ่มค้าอาเซียน-อาร์เซ็ป

ปี 2562 ที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่วันข้างหน้า มีทั้งความเสี่ยงและโอกาส หนังสือพิมพ์ "ฐานเศรษฐกิจ" จึงได้จัดงาน "ดินเนอร์ ทอล์ก Go Thailand : โอกาสประเทศไทย" ขึ้น โดยมี ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "ภูมิทัศน์โลกใหม่ : ความเสี่ยง-โอกาสประเทศไทย"


02-3429-251261-1739


ดร.ศุภชัย มองว่า โลกอยู่ในภาวะ Global Disorder คือ ไม่มีอะไรเป็นสิ่งที่เป็นทิศทางและรูปร่างชัดเจน ตั้งแต่ปี 2551 หลังเริ่มมีวิกฤติทางเศรษฐกิจโลกทางการเงิน กรณี 'เลห์แมนบราเธอร์ส' ล้ม จากนั้นสหภาพยุโรปก็มีปัญหาหลายครั้ง รวมทั้งยังมีปัญหาสงครามค่าเงิน หรือ Currency War มาก่อน แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่สงคราม แต่เป็นเรื่องของนโยบาย เกมการต่อรองในสิ่งที่เป็นสงครามเศรษฐกิจ ไม่มีใครที่จะเป็นคนชนะ

ปัญหาที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2551 ถึงปัจจุบัน ครบ 10 ปีแล้ว แต่ปัญหายังไม่หมดไป สิ่งที่แก้ปัญหาได้เกิดจากการที่มีการอัดฉีดเงินเข้ากว่า 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เศรษฐกิจโลกขยายได้ 3% หรือกว่า 3% เท่านั้น ขณะที่ ในปีหน้าหลายสำนักทำนายว่า เศรษฐกิจโลกจะโตต่ำกว่า 3% เพราะการค้าโลกซบเซาตลอดในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา


- การค้าโลกซบ ฉุดเศรษฐกิจ -

"ผมเคยพูดเสมอว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นได้ก็ต่อเมื่อการค้าโลกฟื้น ไม่มีทางที่เศรษฐกิจโลกจะโตได้ 3-4% ในขณะที่ การค้าโลกโต 1-3% หรือบางปีก็ติดลบ ส่วนใหญ่แล้ว เศรษฐกิจโลกโต 3% การค้าโลกจะโต 6% แต่ 1-2 ปีนี้ การค้าโลกที่เริ่มต้นดีเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้ก็เริ่มจะถดถอยลงไปอีก เข้าใจว่า WTO ประกาศว่า อัตราการขยายตัวของการค้าโลกจะลดลงจากปีที่แล้ว จาก 7% อาจจะเหลือ 5% ปีหน้าอาจจะชะลอลงไปกว่านี้ก็เป็นได้"

 

[caption id="attachment_366231" align="aligncenter" width="503"] ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD)[/caption]

อีกประเด็นที่น่ากังวล คือ ความขัดแย้ง การตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน เปลี่ยนไปจากเดิม ที่ทำสงครามอัตราแลกเปลี่ยนแข่งกัน ทำให้ค่าเงินอ่อน เพราะคิดว่านโยบายการรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้อ่อนช่วยให้ส่งออกได้ ตรงนี้เป็นเรื่องที่ไทยและทุกประเทศเคยใช้ แต่หากพึ่งนโยบายแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จะไม่มีวันเจริญและแข็งแรงขึ้นมาได้ เหมือนกับว่า เราต้องโด๊ปยาไปแข่งกับเขา วันหนึ่งเราเลิกโด๊ป เราก็ไปไม่ไหว ขึ้นอยู่กับว่า เราจะแข็งแรงขนาดไหนถึงจะไปสู่คนอื่นเขาได้

ปัญหาหลักของโลก ขณะนี้ คือ ตัวใครตัวมัน ขณะที่ จีนหลังเข้าร่วม WTO ในปี 2544 ทำให้จีนก้าวขึ้นมาจากผู้ส่งออกอันดับ 7 ของโลก เป็นอันดับ 1 ของโลก เพราะเศรษฐกิจเปิดให้มีการค้าขาย-การลงทุนมากขึ้น ในแต่ละปีมีเงินไปลงทุนที่จีนจำนวนมหาศาล หลังมีความขัดแย้งทางการค้าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้การลงทุนจากบริษัทต่าง ๆ ที่เข้าไปลงทุนในจีนไม่ได้ลดลง


251261-1745

- จับตาเงินลงทุนจีนไหลออก -

ที่สำคัญในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ จีนเกินดุลการค้าสูงกว่าปีที่แล้ว ดังนั้น ข้อสรุป คือ ปัญหาที่จะเป็นสงครามต้องดูว่ามีผลกระทบไปในระดับโลกได้หรือไม่ และสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือว่า ผลกระทบต่อเรา คือ การลงทุนระดับโลกที่ชะงักงัน เพราะไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นในโลก ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอาจเหมือนกรณีการย้ายอุตสาหกรรมเหมือนปี 2528 ที่มีข้อตกลง 'พลาซาแอคคอร์ด' หลังจากญี่ปุ่นเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มาก ทำให้สหรัฐฯ และยุโรปกดดันให้ญี่ปุ่นทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น จนทำให้มีเงินทุนไหลออกจากญี่ปุ่นมาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"มีการวิเคราะห์จากยูเอ็นว่า เวลานี้ไม่มีอะไรแน่นอน เพราะเป็นเรื่องของการจัดระเบียบ เพราะจีนเองก็อยากจะย้ายอยู่แล้วในบางเรื่อง อะไรที่พึ่งแรงงานมาก ค่าจ้างสูงกว่าเวียดนาม ก็ย้ายไปเวียดนาม กัมพูชา และไทย มีการพูดกันว่า "เวียดนามจะได้ประโยชน์มากที่สุดในอาเซียน" ซึ่งก็คงจะจริง ซึ่งเราเองก็ต้องพยายามลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องพวกนี้ให้ได้ ถ้ามีการจัดสรรกันใหม่ในเรื่องทรัพยากรต่าง ๆ"

 

[caption id="attachment_366238" align="aligncenter" width="503"] ©Quangpraha ©Quangpraha[/caption]

ดร.ศุภชัย ยังเป็นห่วงกรณีที่สหรัฐฯ ต้องการปฏิรูป WTO และถ้ารวมกับยุโรปแล้วไปกดดันให้ดอกเบี้ยที่ต่ำ ทั้งในตุรกี เวเนซุเอลา อาร์เจนตินา ปากีสถาน รวมทั้งปัญหาหนี้ของกรีซและการสะสมหนี้ในยุโรป ก็จะนำไปสู่การมีปัญหาทางการเงินต่อไป ซึ่งเริ่มจะมีมากขึ้น มีการมองว่า เศรษฐกิจโลกกำลังจะถึงจุดจบ การลงทุนใหม่เริ่มไม่มี การผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวด้วยการมีสินเชื่อมาก ๆ เป็นอันตรายมาก ถ้าวันหนึ่งดอกเบี้ยขึ้นมาสูงก็จะทรุด

ขณะที่ กรณีอังกฤษออกมาจากสหภาพยุโรป ก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะถ้าอังกฤษออกมาแล้ว เศรษฐกิจไม่ได้ล่มสลาย แต่ตรงข้าม คือ เศรษฐกิจไปได้ดี กรีซและอิตาลีก็อาจจะถอนตัวตามอังกฤษ

"ปัญหาวุ่นวายทั่วโลกทั้งหลายก็จะมาถึงเรา ฉะนั้นประเทศอย่างเรา โอกาสที่จะฟื้นได้ดี เพราะว่า ตลาดโลกดีขึ้น มันก็จะลำบากขึ้น ตลาดการค้าโลกอาจจะโตช้าลง การย้ายทุนจากจีนจะไปที่ไหน ต้องช่วยกันดูให้ดีว่าจะไปที่ไหน ไปกลุ่มอะไร มาที่อาเซียนแน่นอน แต่จะมาที่ไหน ที่ไทยมากน้อยแค่ไหน"

 

[caption id="attachment_366243" align="aligncenter" width="503"] ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD)[/caption]

ขณะที่ ผลกระทบที่น่าเป็นห่วงที่จะเกิดกับไทย จากการสำรวจของนักลงทุนทั่วโลก ล่าสุด เป็นห่วงว่า ปี 2019-2020 ( พ.ศ. 2562-2563) โอกาสที่เศรษฐกิจถดถอยจะมีมากขึ้น แนวโน้มดอกเบี้ยจะขึ้นหรือไม่ ก็คงต้องขึ้นเพื่อรักษา เมื่อจำเป็นต้องใช้นโยบาย อัตราดอกเบี้ยลดได้ ขึ้นได้ ไม่ใช่ลดอย่างเดียว แต่สิ่งที่กำลังเห็นชัดเจน คือ นักการเงินบอกว่า "อัตราดอกเบี้ยระยะยาวปกติจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น" เมื่อไรที่ระยะสั้นแพงกว่าระยะยาว เป็นแนวโน้มเศรษฐกิจไม่มีความแน่นอนขึ้นมาแล้ว ว่า จะเกิดอะไรขึ้นตรงนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,429 วันที่ 23 - 26 ธ.ค. 2561 หน้า 01+02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย | สภาอังกฤษเลื่อนลงมติ Brexit ลางบอกเหตุวิกฤติเศรษฐกิจโลก?
Brexit : ผลกระทบเศรษฐกิจโลก


เพิ่มเพื่อน
บาร์ไลน์ฐาน