'ศิริ' ยัน! พีดีพีใหม่ "ถ่านหิน" ยังจําเป็น

07 ต.ค. 2561 | 08:03 น.
เตรียมเสนอแผนพีดีพีฉบับใหม่เข้า กพช. เดือน ต.ค. นี้ ชี้กรอบเสร็จแล้ว พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็น เผย สัดส่วนเชื้อเพลิงถ่านหินยังมีความจำเป็น ขณะที่ สัดส่วนพลังงานทดแทนเพิ่ม โซลาร์ภาคประชาชนชัดเจน ภายใต้เงื่อนไขราคาค่าไฟต้องไม่แพง

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) ฉบับใหม่ ปี 2561-2580 ใกล้จะแล้วเสร็จ โดยเมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา คณะทำงานฯ เพิ่งประชุมเพื่อเตรียมสรุปแผนพีดีพีฉบับใหม่ ซึ่งเตรียมจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในช่วงเดือน ต.ค. นี้

 

[caption id="attachment_328277" align="aligncenter" width="335"] ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ศิริ จิระพงษ์พันธ์[/caption]

โดยระหว่างนี้จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งยืนยันว่า เชื้อเพลิงถ่านหินยังเป็นทางเลือกในแผนพีดีพีฉบับใหม่ ที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และในอนาคตประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน

นอกจากนี้ ในแผนพีดีพีฉบับใหม่จะมีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ สิ่งที่ชัดเจน คือ สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการเปิดให้เอกชนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เพื่อจำหน่ายระหว่างกันอย่างเสรีมากขึ้น โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เตรียมแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้สามารถรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนที่มีต้นทุนตํ่าได้ แทนการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพียงรายเดียวเหมือนเช่นในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกลงในอนาคต

"ตอนนี้กรอบแผนพีดีพีฉบับใหม่จะเสร็จแล้ว การจัดทำออกมาดี เป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาชนที่จะได้รับประโยชน์อย่างมาก ซึ่งจะมีแผนรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชน รวมทั้งสัดส่วนพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น แต่ภายใต้เงื่อนไขราคาต้องไม่แพง" นายศิริ กล่าว


ถ่าน

นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณา ว่า จะให้ กฟผ. สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคเหนือเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 8 และ 9 กำลังการผลิตรวม 650 เมกะวัตต์ ที่จะหมดอายุในปี 2563 หรือไม่ ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแผนพีดีพีฉบับใหม่ เพราะหากสุดท้ายแล้วกระทรวงพลังงานเห็นชอบให้ กฟผ. ดำเนินการ จะต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี โดยโรงไฟฟ้าใหม่นี้จะเรียกว่า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ Replacement 2 ใช้เงินลงทุนใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้า Replacement 1 (โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะหน่วยที่ 4 หน่วยที่ 6 และหน่วยที่ 7) อยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะมีหน่วยการผลิตอยู่ 10 หน่วย (หน่วยที่ 4-13) กำลังการผลิตรวม 2.4 พันเมกะวัตต์

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,407 วันที่ 7-10 ตุลาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว