ทุนค้าปลีกเปิดใจหลัง“พลาด”คว้าตัวแทนแวต รีฟันด์เตรียมยื่นอุทธรณ์สรรพากร

03 ต.ค. 2561 | 09:14 น.
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่เปิดใจหลัง ไม่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนคืนภาษีในเมือง  เล็งยื่นอุทธรณ์ขอความเห็นใจ เหตุทุ่มแรง ทุ่มเงินไปแล้ว แนะควรตั้งจุด 5 แห่งในแหล่งช้อปปิ้ง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้

pic 3

หลังจากที่กรมสรรพากร ประกาศผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยวในเมือง หรือ Downtown VAT Refund for Tourist   คือ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด ในเครือบมจ. ซีพีออลล์ ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เพียงรายเดียวโดยตั้งจุดคืนภาษี 3 แห่ง ได้แก่ สาขาลิโด้, สาขาแบงค์ค๊อกไนท์บาร์ซาร์ และสาขา ผดุงด้าว (เยาวราช) พร้อมนำร่องทดลองให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561-31 มีนาคม 2562 นั้น ส่งผลให้หนึ่งในผู้ประกอบการคือบริษัท  แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ ได้แก่ เซ็นทรัล , เดอะ มอลล์ , โรบินสัน และสยามพิวรรธน์  พลาดการเป็นตัวแทน หลังจากที่เป็นผู้ดำเนินการโครงการร่วมกับประชารัฐกลุ่ม D3 มาโดยตลอด

นายวรวุฒิ  อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยว่า จากการที่กรมสรรพากรประกาศรับสมัครผู้ประสงค์ให้บริการเป็นตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว  โดยรับสมัครตั้งแต่วันที่ 10-17 กันยายนที่ผ่านมานั้น ผลการอนุมัติจากกรมสรรพากรปรากฏว่า มีผู้ได้รับอนุมัติให้เป็นตัวแทนคืนแวตเพียงรายเดียว คือ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด โดยให้บริการ 3 จุด คือ สาขาลิโด้, สาขาแบงค์ค๊อกไนท์บาร์ซาร์ และสาขา ผดุงด้าว (เยาวราช) นั้น ส่งผลให้บริษัทร่วมทุนที่จดทะเบียนในนาม แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ประกอบด้วย ห้างเซน ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, ห้างเซ็นทรัล ชิดลม, ดิเอ็มโพเรียม, โรบินสัน สุขุมวิท และ สยามพารากอน  ที่เตรียมความพร้อมเคาน์เตอร์แวตรีฟันด์ฟอร์ทัวร์ริสต์ไว้เรียบร้อยแล้ว พลาดโอกาสในการสนับสนุนภาครัฐอย่างน่าเสียดาย

reta2

ทั้งๆ ที่มีการเตรียมความพร้อมร่วมกันกับกรมสรรพากรมาเกือบปี และรับทราบแต่แรกแล้วถึงเหตุผลว่าทำไมจึงเป็น 5 จุด เพื่อตอบโจทย์ในการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวและเพื่อผลสัมฤทธิ์ของโครงการฯ  อีกทั้งยังมีการประชุมพิจารณาระบบซอร์ฟแวร์และขั้นตอนการดำเนินการ  รวมทั้งมีการเดินสำรวจจุดคืนแวตทั้ง 5 จุดร่วมกัน ซึ่งทางกรมสรรพากรทราบดีว่าทั้ง 5 จุดมีความพร้อมในการดำเนินงานที่สมบูรณ์ แต่ผลการอนุมัติตัวแทนคืนแวตรีฟันด์กลับเหลือแค่ผู้ประกอบการรายเดียว และมีจุดคืนแวต 3 จุด ทางสมาคมฯ และบริษัทร่วมทุน จึงขอชี้แจงดังนี้

ในประเทศที่มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยว ไม่มีประเทศใดที่ตั้งจุดคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม แก่นักท่องเที่ยว ในร้านค้าขนาดเล็ก ทุกประเทศล้วนแล้วแต่กำหนดจุดคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม แก่นักท่องเที่ยว ไว้ในห้างสรรพสินค้า หรือในศูนย์การค้าทั้งนั้น ทั้งนี้การเลือก  5 จุดที่นำเสนอต่อกรมสรรพากรนั้น ล้วนเป็นยุทธศาสตร์แหล่งช้อปปิ้งเป็นคำตอบที่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่กรมสรรพากรกำหนดไว้เพราะเป็นแหล่งที่มีร้านค้าจดทะเบียน Vat Refund for Tourists มากที่สุด จึงช่วยลดความแออัดให้กับนักท่องเที่ยวในสนามบิน ได้เป็นอย่างดี ซึ่งร้านค้าขนาดเล็กอาจไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร

จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า  ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าใน 5 จุด ได้รับอนุญาตให้ออกใบกำกับภาษีแก่นักท่องเที่ยว (ภ.พ. 10) ตามที่กรมสรรพากรกำหนด และมีระบบในการออกใบ ภ.พ. 10 อยู่แล้ว จึงสามารถออกใบ ภ.พ 10 ได้ดีกว่า ร้านค้าขนาดเล็กที่ไม่ได้เข้าอยู่ในระบบการออกใบกำกับภาษีแก่นักท่องเที่ยว  ขณะที่ข้อจำกัดของพื้นที่ร้านค้าขนาดเล็กให้บริการที่ไม่สามารถรองรับคนได้จำนวนมาก ซึ่งอาจสร้างความไม่สะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่อาจต้องต่อคิวรอเป็นเวลานาน

reta1

อีกทั้ง 5  จุดนี้ติดอันดับต้นๆ ของจุดที่นักท่องเที่ยวรู้จัก เนื่องจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจะมีตารางการท่องเที่ยวที่ค่อนข้างแน่นอนและมีเวลาจำกัด จุดที่กำหนดให้เป็นจุดคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม แก่นักท่องเที่ยวจะต้องเป็นจุดที่สังเกตได้ง่าย เป็นแลนด์มาร์คที่นักท่องเที่ยวรู้จัก

“การพิจารณาเปิดจุดเป็น 5 จุด จาก 3 จุด มีแต่จะเอื้อประโยชน์ให้กับนักท่องเที่ยวที่มีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะใน 5 โลเกชั่นนี้ ซึ่งนับเป็นใจกลางของกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ  ที่พักอาศัย คอนโดมิเนียม ร้านค้า ร้านอาหาร เป็นจุดหมายปลายทางของการช้อปปิ้ง (Shopping Destination) ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาจับจ่ายใช้สอยเป็นจำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 300,000 คนต่อวัน ที่เดินจับจ่ายอยู่ในบริเวณนี้”

นอกจากนี้ ทั้ง 5 จุดดังกล่าวยังเดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที อีกด้วย บริษัทร่วมทุนฯ จึงมองว่าหากกรมสรรพากรอนุมัติ 5 จุดนี้ จะช่วยกระตุ้นระบบหมุนเวียนเศรษฐกิจไทยได้มาก และยังเป็นการระบายความคับคั่งแออัดของนักท่องเที่ยวที่ต้องการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในสนามบินได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งทำให้ร้านค้าหรือผู้ประกอบการขนาดกลางถึงเล็กในเมืองมีรายได้จากการใช้สอยของนักท่องเที่ยว

090861-1927-9-335x503

ขณะที่การขายสินค้าและบริการของห้างสรรพสินค้า มีขั้นตอนและกระบวนการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวอย่างครบวงจร จนถึงการออกใบกำกับภาษีสำหรับนักท่องเที่ยว (ภ.พ. 10)  ซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวยื่นแบบคําร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสําหรับนักท่องเที่ยว (ภ.พ. 10) มากกว่า 900,000 ใบต่อปีในบริเวณ 5 จุดดังกล่าว คิดเป็น 60% ของปริมาณการขอใบ ภ.พ. 10 ทั่วประเทศ จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะกำหนดให้ทั้ง 5 จุดเป็นจุดการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งจะบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการคือ ครอบคลุมจำนวนนักท่องเที่ยว ตอบสนองความพึงพอใจ และการกระจายรายได้สู่กิจการทุกระดับ

อย่างไรก็ดี จำนวนเงินในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องมียอดซื้อสินค้า 2,000 บาทขึ้นไป และยกเว้นสินค้าประเภทอาหาร ผู้ที่จะสามารถออกใบกำกับภาษีแก่นักท่องเที่ยว (ภ.พ. 10) ได้ต้องเป็นร้านค้าจดทะเบียนและได้รับอนุญาตจากกรมสรรพากรเท่านั้น ดังนั้นนักท่องเที่ยวจะจับจ่ายใช้สอยสินค้าในร้านค้าที่สามารถคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้จะมายื่นขอใบกำกับภาษีสำหรับนักท่องเที่ยว (ภ.พ. 10)) ที่เคาน์เตอร์บริการ VAT Refund For Tourist ณ ห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าที่จับจ่าย และจะทำการขอคืนแวตที่เคาน์เตอร์บริการ VAT Refund For Tourist ในบริเวณเดียวกันและ/หรือที่ใกล้กับจุดที่ลูกค้าซื้อสินค้ามากที่สุด นั่นย่อมหมายความถึงความสะดวกสบายของนักท่องเที่ยวที่มีมากกว่าการต้องมาทำการขอคืนภาษีในร้านค้าขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลออกไป

reta3

เมื่อนักท่องเที่ยวได้รับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในสกุลเงินบาท นักท่องเที่ยวก็จะจับจ่ายใช้สอยต่อเนื่อง คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจกว่า 4 พันล้านในช่วงการทดลอง 6 เดือน และการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโครงการให้แก่นักท่องเที่ยว ทั้ง 5 จุดดังกล่าว มีเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, กลุ่มธุรกิจสถาบันการเงิน, ธุรกิจการบิน, สมาคมการค้า รวมทั้งมีสื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ของตัวเอง ที่สามารถช่วยในการโปรโมทการคืนภาษีให้แก่นักท่องเที่ยวในเมือง ได้เป็นอย่างดี สร้างการรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยวได้เป็น วงกว้าง รวดเร็ว

นายวรวุฒิ กล่าวอีกว่า การที่กรมสรรพากรอนุมัติจุดคืนภาษีแก่นักท่องเที่ยวให้มีจำนวนมาก ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวอยากที่จะจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายและไตรมาสแรกของปี 2562 ซึ่งอยู่ในบรรยากาศของการจับจ่าย เนื่องจากเป็นไฮซีซั่นและเป็นช่วงเทศกาล

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ภายใต้การบริหารงานบริษัท แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด พร้อมที่จะทำงานร่วมกันกับรัฐบาล ด้วยความชำนาญด้านค้าปลีก และหากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ ก็หวังว่ารัฐบาลจะเปิดโอกาสให้ร้านค้าที่เข้าเกณฑ์ทั่วประเทศได้มีเคาท์เตอร์คืนแวตรีฟันด์ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป ทั้งนี้หลังจากนี้สมาคมและผู้ประกอบการค้าปลีกจะทำหนังสืออุทธรณ์ต่อกรมสรรพากรเพื่อให้พิจารณาแนวทางในการขยายจุดคืนภาษี เพื่อให้ตอบโจกย์กับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้แต่เริ่มต้นต่อไป

e-book-1-503x62-7