LH Bankดึงลูกค้าใช้ชิปการ์ด ทุ่มงบวางระบบรับ ‘อี-เพย์เมนต์’ ยันไล่ตามทันค่ายอื่น

23 ก.พ. 2559 | 10:30 น.
แบงก์แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เดินหน้าทุ่มงบวางระบบโครงสร้างธุรกรรมการเงินสู่ยุคดิจิตอล รับนโยบายอีเพย์เมนต์แห่งชาติ ไม่หวั่นมาที มั่นใจตีตื้นทันค่ายอื่นแน่ ใจป้ำหั่นค่าธรรมเนียมกว่า 10 ล้านบาท ดูดลูกค้าเปลี่ยนบัตรชิปการ์ด-ยลโฉมโมบายแอพพลิเคชั่นเดือนพฤษภาคม /พร้อมเปลี่ยนตู้รองรับ 200 ตู้ 100% /จับมือ Union Pay ออกบัตรเดบิต คาดยอดใช้ 80% ด้านทิศทางธุรกิจตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อ-สินทรัพย์ 10-15% ชี้เห็นดีลใหญ่เพียบ หลังธนาคารใหญ่ติด SLL

นายธานี ผลาวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือ LH Bank เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" จากทิศทางที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคดิจิตอลและกำลังเกิดโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ภายใต้ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ "อีเพย์เมนต์" ดังนั้นเพื่อเป็นการไล่ตามให้ทันธนาคารขนาดกลางและขนาดใหญ่ในระบบ และเพื่อเข้าสู่อีเพย์เมนต์ที่จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันในเรื่องระบบแบงกิ้ง ธนาคารจึงวางแผนวางโครงสร้างระบบพื้นฐานของระบบแบงกิ้งให้ครบทุกส่วนให้ได้ภายในปีนี้ เนื่องจากปัจจุบันธนาคารมีเฉพาะระบบอินเทอร์เน็ตแบงก์เท่านั้น ซึ่งต่อยอดจากเดิมที่ใช้ระบบโอนเงินแบบบาทเน็ทในช่วง 2-3 ปีก่อน แต่ปัจจุบันสามารถใช้ระบบอินเทอร์เน็ตโอนเงินข้ามธนาคารได้ และรวมถึงการรับฝากเงินสดผ่านเครื่องรับเงินอัตโนมัติเท่านั้น

อย่างไรก็ดี หากเทียบระบบที่ธนาคารมีอยู่ถือว่า ยังเสียเปรียบคู่แข่งที่มีหลายช่องทางที่ให้บริการลูกค้า ธนาคารจึงใช้โอกาสนี้ที่จะเกิดโครงการใหญ่ในการวางระบบโครงสร้างเพิ่มเติม โดยเริ่มต้นจากการต่อยอดระบบอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง และมีการปรับเปลี่ยนงานหลังบ้านของระบบคอร์แบงกิ้ง ซึ่งปีนี้คาดว่า จะเห็นเรื่องของโมบายแบงกิ้งเป็นอันดับแรก ซึ่งใช้งบลงทุนประมาณหลักสิบล้านบาท ภายใต้ชื่อ "LH Bank M Choice Application" ที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมการเงินได้โดยไม่ต้องมาที่สาขา ถือเป็นแนวโน้มที่สาขาของธนาคารจะปรับลดลงตามยุคดิจิตอลแบงกิ้ง รวมถึงธนาคารจะสร้างโปรแกรมขึ้นมา 1 ระบบ เพื่อเชื่อมโยงกับระบบของ ITMX เข้าสู่ระบบอีเพย์เมนต์ของภาครัฐด้วย

นอกจากการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานของระบบแบงก์กิ้ง ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ธนาคารจะเดินหน้าตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย (TBA) ที่ต้องการให้สมาชิกธนาคารทั้งหมดปรับเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มจากแถบแม่เหล็กมาเป็นชิปการ์ด และเปลี่ยนระบบเครื่องเอทีเอ็มให้สามารถรองรับได้ ซึ่งธนาคารคาดว่า ภายในเดือนพฤษภาคมจะสามารถปรับระบบเครื่องเอทีเอ็มให้สามารถรองรับระบบใหม่ได้ครบทั้ง 200 เครื่อง เนื่องจากความโชคดีของธนาคารที่ตามหลังธนาคารอื่น ทำให้เครื่องเอทีเอ็มอีที่มีอยู่เป็นระบบที่ทันสมัยรองรับชิปการ์ดได้แต่อาจจะต้องมีการอัพเดตระบบเล็กน้อย จึงใช้เวลาไม่นานและไม่ต้องลงทุนใหม่ทั้งหมด ทั้งนี้จากการประเมินคาดว่า ทั้งระบบที่มีเครื่องเอทีเอ็มประมาณ 5 หมื่นเครื่องภายในเดือนพฤษภาคมจะสามารถปรับได้เพียง 86% และภายในสิ้นปีจะปรับได้ครบ 100%

ขณะที่การเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มที่ลูกค้าถืออยู่นั้น ธนาคารจะส่งหนังสือ หรือโทรแจ้งลูกค้าในทุกช่องทางการสื่อสารให้ทยอยเข้ามาปรับเป็นบัตรชิปการ์ด ปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้าทั้งสิ้น 2 แสนบัญชี มีลูกค้าถือบัตรเอทีเอ็มจำนวน 1 แสนใบ ในเบื้องต้นธนาคารคาดว่า จะไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนบัตรดังกล่าว เพราะถ้าดูต้นทุนบัตรชิปการ์ดจะพบว่า ค่อนข้างราคาสูง แต่เชื่อว่าหลังจากธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบหันมาเปลี่ยนบัตรทั้งหมด จะช่วยลดต้นทุนค่าบัตรลงได้ เช่น จากเดิมต้นทุนอยู่ที่ 100 บาทต่อบัตร อาจจะเหลือเพียงหลักสิบบาทต่อบัตร

ดังนั้น ธนาคารอาจจะมีต้นทุนการเปลี่ยนบัตรให้ลูกค้าประมาณ 10 ล้านบาท ขณะเดียวกันลูกค้ายังสามารถเลือกได้ว่า ลูกค้าจะเปลี่ยนจากเอทีเอ็มเป็นบัตรเดบิต หรือเป็นแบบ 2 In 1 ซึ่งตอนนี้ธนาคารกำลังอยู่ระหว่างพูดคุยและส่งหนังสือขออนุญาตจากธปท.ในการเปิดให้บริการบัตรเดบิตร่วมกับ UnionPay International (UPI) ภายใต้บัตรเดบิต "LH Bank UnionPay" ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายธปท. และสมาคมธนาคารไทย เนื่องจาก UnionPay เป็นผู้จัดทำระบบ "Thai Standard Format" ให้กับสมาคมฯ ทั้งนี้คาดว่า ธปท.จะอนุญาตและเปิดให้บริการภายในเดือนพฤษภาคม โดยมีเป้าหมายลูกค้าจะเปลี่ยนจากถือเอทีเอ็มมาใช้บัตรเดบิตดังกล่าวประมาณ 80% จากฐานผู้ถือบัตรเอทีเอ็มทั้งหมด 1 แสนราย

"ภายใต้การเปลี่ยนแปลงระบบ และการวางโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ จะสามารถรองรับโครงการอีเพย์เมนต์ของภาครัฐได้ด้วย และด้วยความโชคดีของธนาคารที่ตามมาที่หลังคนอื่น ทำให้การปรับระบบไม่มากเหมือนคนที่ลงทุนก่อนหน้า เพราะเทคโนโลยีจะมาเป็นรุ่นๆ เช่น ตู้เอทีเอ็มของเราเพิ่งซื้อมา 4-5 ปีก่อน แค่อัพเดทข้อมูล ส่วนฐานบัตรลูกค้าก็มีไม่เยอะ อาจจะเปลี่ยนได้ทันภายในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ ตามที่แบงก์ชาติอยากเห็น ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียมที่คิดว่าจะลดให้ลูกค้า เพื่อเป็นการจูงใจลูกค้า"

นางศศิธร พงศธร (ฉัตรศิริวิชัยกุล) กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กล่าวว่า สำหรับทิศทางธุรกิจในปี 2559 ธนาคารตั้งเป้าเติบโตในแง่สินเชื่อและสินทรัพย์ประมาณ 10-15% มากกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 2-3 เท่า โดยสินเชื่อจะเพิ่มจาก 1.49 แสนล้านบาท เป็น 1.69 แสนล้านบาท คิดเป็นเติบโตสุทธิประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่จะขยายตัวได้ดีจะเป็นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน โครงการขนาดใหญ่ (Big Corporate) เติบโตประมาณ 16-20% ขึ้นอยู่กับโอกาสและผลตอบแทน (Yield) ที่เหมาะสม แต่เชื่อว่า กลุ่มนี้จะเข้ามาใช้บริการธนาคารมากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ต้องการเงินทุนจำนวนสูง

"ที่ผ่านมามีหลายโครงการที่เกิดขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และกลางอาจติดในเรื่องของหลักเกณฑ์การกำกับลูกหนี้รายใหญ่ (Single Lending Limit) หรือ SLL จึงหันมาใช้บริการหรือขอความร่วมมือในการปล่อยกู้ร่วม หรือ Syndicate loan ส่วนคุณภาพสินเชื่อจะพยายามรักษาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไม่เกินระดับ 2% ส่วนเรื่องการหาพันธมิตรยังเป็นภารกิจอยู่ แต่พันธมิตรที่จะเข้ามาจะต้องมีเรื่องของธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) และการค้าชายแดน เพื่อรองรับการขยายตัวภายใต้ AEC"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,133 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559