แบงก์อัดงบปั้นคนไอที ตั้งแล็บวิจัยเฟ้นบุคลากร หาเทคโนโลยีใหม่

29 ก.ย. 2561 | 07:39 น.
 

แบงก์ขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยีหนัก เร่งลงทุน จับมือพันธมิตรเฟ้นหาเทคสตาร์ตอัพ “กรุงศรีฯ” เสริมทักษะบุคลากรไอที “กสิกรไทย” ทุ่มงบ 8 พันล้านบาท ผุดบริษัท K Vision ตั้งแล็บ ลงทุนหาเทคโนโลยีใหม่ “กรุงเทพ” เชื่อจับมือเทคสตาร์ตอัพ ช่วยผู้บริโภคได้ประโยชน์ สร้างระบบ Ecosystem

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรีคอนซูมเมอร์และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า งบลงทุนหลักๆปีนี้ จะเน้นพัฒนาบุคลากรด้านไอทีหรือเทคโนโลยี โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญด้าน Data Analytic ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับฟินเทคต่างๆ รวมถึงผ่านโครงการกรุงศรี ไรส์ ที่ร่วมมือและลงทุนในสตาร์ตอัพฟินเทคแล้ว 25 ราย คาดว่าในสิ้นปี จะขยายความร่วมมือเพิ่มเป็น 40 ราย ซึ่งล่าสุดโครงการกรุงศรี ไรส์ได้ร่วมมือกับฟินเทค 10 ราย เป็นฟินเทคต่างชาติ 3 ราย และไทยอีก 7 ราย เพื่อพัฒนาฟีเจอร์บนแอพพลิเคชันโมบายแบงกิ้ง หรือการสร้างอี-มาร์เก็ตเพลสผ่านการเชื่อมโยงกับพันธมิตรต่างๆ

[caption id="attachment_313408" align="aligncenter" width="335"] นายฐากร ปิยะพันธ์ นายฐากร ปิยะพันธ์[/caption]

ปัจจุบันธนาคารสามารถนำเทคโนโลยี เช่น โรบอต (Robot) มาทดแทนบุคลากรได้บางส่วน แต่ยังคงให้ความสำคัญกับบุคลากรและพนักงาน โดยพยายามเพิ่มความรู้และทักษะในเรื่องของเทคโนโลยีให้มากขึ้น ขณะเดียวกันต้องหาผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีจากแหล่งอื่นๆมาเสริมด้วย เพราะธนาคารจะอยู่รอดได้ต้องร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยี และต้องพร้อมใจกันเพื่อแข่งขันกับคู่แข่งที่เป็น Big Tech Giant จากต่างประเทศได้ โดยต้องดำเนินการให้เร็วและมีประสิทธิภาพเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันให้ได้

ทั้งนี้ ภายในเดือนกันยายน-ตุลาคม ธนาคารเตรียมให้บริการเปิดบัญชีออนไลน์ ผ่านการรู้จักลูกค้าผ่านอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-KYC ซึ่งจะมีธนาคารพาณิชย์ 5-6 แห่งนำร่องให้บริการก่อน ซึ่งถือเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศ และจะขยายไปสู่การเปิดบัญชีกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์(บล.)และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) สอดคล้องกับเป้าหมายของภาครัฐที่ต้องการให้การทำธุรกิจมีความง่ายขึ้น และภายในไตรมาส 4 จะพัฒนาไปสู่การเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับภาครัฐ ผ่าน National ID รวมถึงจะขยายไปสู่การให้บริการขอสินเชื่อ เช่น สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน โดยเฉพาะบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรถยนต์

“โจทย์ต่อไปสำหรับธนาคาร คือ ทำยังไงที่จะใช้เทค โนโลยีเพื่อพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและตอบสนองผู้บริโภคให้ได้เร็วขึ้น เช่น AI สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งการให้บริการทางด้านสินเชื่อ เพราะเอไอจะรู้ข้อมูลและพฤติกรรมของลูกค้า ทำให้ธนาคารสามารถพิจารณาการให้สินเชื่อได้”

นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.ธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า ไทยค่อนข้างขาดแคลนและแข่งขันแย่งบุคลากรด้านเทคโนโลยี จึงจำเป็นต้องไปลงทุนในเวนเจอร์ในต่างประเทศ หรือไปตั้งแล็บเพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งล่าสุดได้ตั้งบริษัท กสิกร วิชั่นฯ หรือ เควิชั่น (K Vision) เงินลงทุน 8 พันล้านบาท เพื่อลงทุนหาเทคโนโลยีใหม่ๆในต่างประเทศ เบื้องต้น 4 ประเทศคือ อิสราเอล อินโดนีเซีย จีน และเวียดนาม เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีเทคโน โลยีและเทคสตาร์ตอัพค่อนข้างมาก น่าจะนำมาปรับใช้กับธนาคารได้

090861-1927

“จีนน่าจะเป็นประเทศแรกที่ธนาคารเข้าไปลงทุน เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่หลากหลาย หากเทียบกับยุโรป ประกอบกับธนาคารมีสาขาที่จีน การเข้าไปเจาะตลาดทำได้ง่ายกว่า ขณะที่อินโดนีเซีย จะเก่งด้านโมบายแบงกิ้ง ส่วนเวียดนามจะมีนักวิจัยทางด้านเทคโนโลยีค่อนข้างเยอะ และสุดท้ายอิสราเอล จะเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านความปลอดภัย”

นายกึกก้อง รักเผ่าพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคาร กรุงเทพกล่าวเสริมว่า ขณะนี้ไม่มีใครรู้ว่าเทคโนโลยีมันจะไปหยุดที่ตรงไหน ธนาคารจึงพยายามที่จะอบรมพนักงานทางด้านไอทีให้มีความรู้ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.)ที่กำลังทำ คือ การจ้างบุคลากรด้านไอทีเพิ่มมากขึ้น สะท้อนการปรับเปลี่ยนเพื่อเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งท้าทายต่อไปคือ การจะต่อสู้ในเกมต่อไป ต้องคิดว่าจะต่อสู้กับ Tech Giant ได้อย่างไร เนื่องจากธนาคารมีฐานลูกค้า แต่บริษัทเทค จะมีเทคโนโลยีจึงต้องมาร่วมมือกัน โดยจะเกิดเป็น Win-Win ซึ่งจะเห็นการร่วมมือกัน ผู้บริโภคได้ประโยชน์ ลูกค้ามีทางเลือก เพราะหากบริษัทเทคจะแข่งขันกับธนาคารโดยตรงก็ไม่ง่ายนัก ดังนั้น การร่วมมือกันน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า ส่วนธนาคารจำเป็นต้องแข่งขันต้องทำให้เร็วกว่า และสร้างระบบนิเวศ Ecosystem ระหว่างกันให้ดีเพื่อให้แข่งขันได้

23626556