คลังหยุดรีดเลือด รสก. !! เดินหน้าเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ

16 ก.ค. 2561 | 12:54 น.
170861-2026

สคร. ยืนยัน ไม่เรียกเก็บเงินจากรัฐวิสาหกิจเพิ่มอีกแล้ว เหตุเติม 1.6 แสนล้านบาท ให้กับรายได้รัฐเพียงพอ เดินหน้ากระตุ้นการเบิกจ่ายงบลงทุน หลังพลาดเป้าไปมาก เตรียมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปลายเดือนนี้ หลัง 'สมคิด' จี้ให้เป็นมาตรการเร่งด่วน เพื่อผลักดันเศรษฐกิจต่อไป

รายได้จากรัฐวิสาหกิจ (รสก.) และหน่วยงานอื่น ๆ ถือเป็นรายได้สำคัญที่จะเข้ามาชดเชยในช่วงที่รัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีได้ตามเป้าหมาย โดยพบว่า 9 เดือนของปีงบประมาณ 2561 รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้เข้ารัฐสูงถึง 130,603.59 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายการจัดเก็บถึง 25,171.03 ล้านบาท หรือ 23.87% ของเป้าหมายรายได้แผ่นดินสะสม ที่ตั้งไว้ 105,432.56 ล้านบาท

 

[caption id="attachment_297821" align="aligncenter" width="310"] ประภาส ประภาศ คงเอียด[/caption]

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภาพรวมการจัดเก็บรายได้รัฐบาลที่พบว่า รายได้ส่วนอื่น ๆ พลาดเป้า โดยเฉพาะรายได้จากการจัดเก็บภาษี น่าจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จึงต้องเตรียมแผนรองรับด้วยการให้รัฐวิสาหกิจนำกำไรสะสมที่มี หรือ สภาพคล่องที่เตรียมไว้ในการลงทุน แต่ไม่ได้ลงทุนตามแผน ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินก่อน โดยไม่ให้กระทบต่อแผนลงทุน

"เมื่อผ่านมาถึงกลางปีงบประมาณ ก็เริ่มเห็นว่า รายได้คงพลาดเป้าแน่ ก็มาดูว่ายังมีรัฐวิสาหกิจไหนที่ยังมีสภาพคล่องส่วนเกินเหลือเยอะ ส่วนเกินที่ไม่ได้เคลื่อนไหว ไม่มีแผนลงทุน ก็จะเรียกให้นำส่งเพิ่ม อย่างที่คาดว่ารัฐบาลต้องการรายได้อีก 1.6 แสนล้านบาท ก็มาดูว่าจะเกลี่ยเอาจากรัฐวิสาหกิจไหนได้บ้าง จะกระจายตามสภาพคล่องที่มีเป็นหลัก"

อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปคาดว่าจะไม่เรียกเก็บเพิ่มจากรัฐวิสาหกิจแล้ว เพราะจำนวนที่เรียกเพิ่มน่าจะเพียงพอกับรายได้ของรัฐบาลแล้ว แต่สิ่งที่จะต้องดำเนินการจากนี้ไป คือ กระตุ้นการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ยังต่ำกว่าเป้าหมายมาก ซึ่งทางรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เอง ให้นโยบายเรื่องนี้เป็นมาตรการเร่งด่วน โดยจะมีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสิ้นเดือนนี้เพื่อดูปัญหาต่าง ๆ ที่ยังมีการเบิกจ่ายล่าช้า


Print

ทั้งนี้ จะต้องมาร่วมพิจารณาว่า การเบิกจ่ายที่ล่าช้าของรัฐวิสาหกิจยังติดขัดปัญหาอะไร เป็นตามระเบียบหรือไม่ เพราะหากเป็นเรื่องปัญหาอยู่การจัดซื้อจัดจ้าง หลังจากพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ มีผลบังคับใช้ไปเมื่อปีที่แล้ว ก็ได้เคลียร์ปัญหาต่าง ๆ หมดแล้ว

"การลงทุนของรัฐวิสาหกิจถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น สคร. จึงมีหน้าที่ในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจได้นำกลไกต่าง ๆ มาใช้ในการติดตามและเร่งรัดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เช่น การรายงานภาพรวมข้อมูลการลงทุน การติดตามผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการได้ตามแผนการลงทุน ซึ่งจะช่วยผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศได้อย่างต่อเนื่อง"

นายประภาศ กล่าวว่า ในงบประมาณปี 2561 สคร. มีนโยบายสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการขับเคลื่อนองค์กร ทั้งในส่วนของการพัฒนาสินค้าและบริการ รวมทั้งลดขั้นตอนของกระบวนการทำงานที่ซับซ้อนให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับรัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้รัฐวิสาหกิจมีผลประกอบการที่ดีขึ้น และคาดว่า สคร. จะสามารถจัดเก็บเงินรายได้แผ่นดินเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 1.37 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2561 ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยรักษาเสถียรภาพการคลังของประเทศได้อีกทางหนึ่ง

ขณะที่ การเบิกจ่ายเงินงบประมาณปี 2561 กรมบัญชีกลางรายงานว่า ช่วง 9 เดือนของปีงบประมาณ จนถึง มิ.ย. 2561 พบว่า มีการเบิกจ่ายงบประมาณภาพรวมได้ 2.11 ล้านล้านบาท หรือ 72.87% ของวงเงินงบประมาณ 2.9 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.42% จากเป้าหมายที่ 74.29% โดยเป็นรายจ่ายประจำ เบิกจ่ายได้ 1.84 ล้านล้านบาท หรือ 82.25% ของวงเงินงบประมาณ 22.24 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมาย 5.25% ขณะที่ รายจ่ายลงทุนไม่รวมงบกลางเบิกจ่ายได้ 2.7 แสนล้านบาท หรือ 46.84% ของวงเงินประมาณ 577,298 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 18.27% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 65.1%

ทั้งนี้ การเบิกจ่ายที่ต่ำกว่าเป้าหมาย มีสาเหตุทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน คือ ปัจจัยภายในเกิดจากการกำหนด TOR ไม่ชัดเจน ต้องแก้ไขปรับปรุง เมื่อมีผู้วิจารณ์ ปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดิน และผู้รับจ้างไม่สามารถส่งมอบงานได้ตามงวดงาน ส่วนปัจจัยภายนอกพบว่า มีรายการครุภัณฑ์ที่มีลักษณะพิเศษต้องจัดหาจากต่างประเทศและความล่าช้า เนื่องจากรอการพิจารณาของคณะกรรมการในระดับกระทรวง


……………….
เซกชัน : การเงิน โดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,383 วันที่ 15-18 ก.ค. 2561 หน้า 24+23

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
จับตาวาระครม. คลังชงมาตรการภาษีหนุนเที่ยว-สัมมนาเมืองรอง
ทุนนอกแห่ลง 'อีอีซี' !! 'ไทคอนฯ' ปรับเป้าเช่าโรงงาน-คลังสินค้า รับการลงทุน

เพิ่มเพื่อน e-book-1-503x62