ทุนนอกแห่ลง 'อีอีซี' !! 'ไทคอนฯ' ปรับเป้าเช่าโรงงาน-คลังสินค้า รับการลงทุน

09 ส.ค. 2561 | 06:53 น.
090861-1344

'ไทคอนฯ' เผย 'อีอีซี' คึกคัก! กลุ่มนักลงทุนต่างชาติแห่ดูพื้นที่ต่อเนื่อง จีนและญี่ปุ่นสนใจลงทุนอุตฯอากาศยานและอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ สิงคโปร์เบนเข็มลงทุนไทย เล็งพื้นที่ตั้งโรงงานอุตฯไฮเทค เชื่อปลายปีนักลงทุนยื่นขอส่งเสริมจากบีโอไอเพียบ

หลังจากที่ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีผลบังคับใช้เมื่อเดือน พ.ค. 2561 เป็นต้นมา ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี มากขึ้น โดยเฉพาะการออกไปเชิญชวนนักลงทุน หรือ โรดโชว์ ค่อนข้างจะประสบความสำเร็จ

นายโสภณ ราชรักษา ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในช่วงเดือน ส.ค. 2561 นี้ ทางคณะผู้บริหารจะมีการประชุมเพื่อกำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัทในช่วง 3 ปี (2561-2563) ใหม่ เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมาก จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว โดยเฉพาะนโยบายพัฒนาพื้นที่อีอีซี ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและเป็นปัจจัยที่จะทำให้บริษัทต้องปรับเป้าหมายในการดำเนินงานปล่อยเช่าพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าของปี 2561 ใหม่ จากภาพรวมทั้งหมด เดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 แสนตารางเมตร เนื่องจากเห็นสัญญาณของทัพนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามา เพราะหลังจาก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีผลบังคับใช้เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ประกอบกับการออกไปเชิญชวนนักลงทุน หรือ โรดโชว์ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน เกาหลี อังกฤษ และฝรั่งเศส ของรัฐบาลและบีโอไอ ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศดังกล่าวเกิดการตื่นตัวและสนใจที่จะเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก


TP11-3383-A


ทั้งนี้ประเมินได้จาก ที่ผ่านมามีนักลงทุนจากกลุ่มประเทศดังกล่าวได้เดินทางมาสำรวจพื้นที่ตั้งโรงงานและคลังสินค้าของบริษัทอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นและจีนที่เข้ามาเป็นจำนวนมาก และมีความสนใจที่จะมาตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นซัพพลายเออร์ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยาน

อีกทั้งมองว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนอังกฤษและฝรั่งเศส เมื่อช่วงปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างบริษัท แอร์บัสฯ และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในการตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา หรือ MRO รวมถึงได้พบนักลงทุนที่มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมอากาศยาน ซึ่งหากยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมอากาศยานเข้ามาลงทุนแล้ว เชื่อว่าจะมีบริษัทซัพพลายเออร์ตามเข้ามาลงทุนด้วยเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มทุนจากสิงคโปร์ที่สนใจเข้ามาลงทุนในอีอีซี ในกลุ่มที่เป็นอุตสาหกรรมไฮเทค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติและอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากพื้นที่การตั้งโรงงานที่เป็นไฮเทคค่อนข้างเต็มแล้ว จึงมองไทยเป็นประเทศแรกที่จะเข้ามาลงทุน จากนโยบายอีอีซีที่เกิดขึ้น ดังนั้น ด้วยสัญญาณดังกล่าวที่เกิดขึ้น จึงเชื่อว่า นักลงทุนจากต่างประเทศจะตัดสินใจและเข้ามายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอจะมีความชัดเจนภายในปลายปีนี้ และต่อเนื่องไปถึงปีหน้าเป็นอย่างน้อย ซึ่งจะส่งผลดีกับบริษัทในการเช่าพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าเพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน กลุ่มบริษัทไทคอนฯ มีพื้นที่ให้บริการในเขตอีอีซีกว่า 1 ล้านตารางเมตร บนที่ดินกว่า 1,500 ไร่ พร้อมที่จะรองรับการลงทุนในทุกอุตสาหกรรมและอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 1.5 พันไร่ โดยบริษัทมีพื้นที่ทั้งหมดที่มีอยู่ 50 แห่งทั่วประเทศ รวมพื้นที่ในการให้บริการกว่า 2.7 ล้านตารางเมตร โดยตั้งเป้าภายในปี 2563 จะมีพื้นที่ให้บริหารที่ 3.5 ล้านตารางเมตร


……………….
เซกชัน : อีอีซี โดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,383 วันที่ 15-18 ก.ค. 2561 หน้า 11

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
SPPห่วงอีอีซีสะดุดเหตุรัฐยังไม่เร่งต่อสัญญาไฟฟ้าตามมติ กพช.
เจาะแผนพัฒนาอีอีซี 6 แนวปฏิบัติการ ลงทุน 2.5 ล้านล้าน


e-book-1-503x62